ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก
 
# 196 ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก
6 กรกฎาคม - 12 กรกฎาคม 2552

    ระบบฐานความรู้ (Knowledge Based System) เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งต้องมีระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems) มาเป็นกลไกตัดสินใจภายในระบบฐานความรู้ และส่งผลลัพธ์จากการตัดสินใจที่ผ่านการคัดกรองและน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูล การรวบรวมองค์ความรู้ในอดีตไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถรวบรวม เรียบเรียง แลกเปลี่ยน และนำเสนออย่างมีส่วนร่วมกันทั้งโลก ต่างกับปัจจุบันที่เรามีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีเครื่องมือที่หลากหลาย อาทิ Blog, Forum, Webboard, Chat, Wiki, QA และ FAQ เราจึงมีระบบฐานความรู้รองรับความรู้มากมายที่ผู้รู้ และผู้เรียนรู้ต่างพยายามเรียบเรียงจากมุมมองของตนเกิดเป็นระบบฐานความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อว่าอินเทอร์เน็ต

    แต่การนำความรู้ที่อยู่ในตัวคนออกมาแลกเปลี่ยนแล้วนำเสนอสู่สาธารณะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา การประกันคุณภาพ และเกิดบริการเครื่องมือช่วยรวบรวมความรู้โดยเว็บไซต์มากมาย ปัจจุบันเมื่อพูดถึงคำว่า วิกิ (Wiki) ซึ่งถูกสร้างครั้งแรกโดย วอร์ด คันนิงแฮม ปีพ.ศ.2537 ทุกคนก็จะนึกถึงเว็บไซต์ Wikipedia.com หมายถึง เว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ทุกคนเข้าไปเพิ่ม และร่วมแก้ไขเนื้อหาบทความได้โดยง่าย เป็นองค์ความรู้ที่คนจากทุกชาติ ทุกภาษาเข้าไปเป็นอาสาสมัครร่วมกันพัฒนาความรู้

    ฐานความรู้ระดับโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่เป็นความรู้ที่ไม่เจาะลึกเฉพาะด้าน ไม่แยกตามบริบทที่เป็นไปขององค์กรหรือชุมชน จึงมีการนำระบบวิกิไปติดตั้งในองค์กร เพื่อให้สมาชิกนำความรู้และประสบการณ์เข้าไปบันทึกไว้ ซึ่งความสำเร็จของระบบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ นโยบายของผู้บริหาร งบประมาณสนับสนุน เป้าหมายร่วมขององค์กร ความง่ายในการใช้งาน ความเอื้ออาธรของสมาชิก และการลดอัตตาที่มีในตัวตนของทุกคน
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
197. พัฒนาการศึกษาด้วยอีเทรนนิ่ง
196. ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก
195. เครือข่ายสังคมกับร้านอาหาร
194. มัลติมีเดียในงานมุทิตาจิต
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com