พลังงานทดแทนสำหรับอุปกรณ์ไอที
 
# 114 พลังงานทดแทนสำหรับอุปกรณ์ไอที
10 ธันวาคม - 16 ธันวาคม 2550

    น้ำมันแพง ค่าไฟฟ้าขึ้นราคา ค่าแก๊สหุงต้มขยับอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนพื้นฐานสำหรับสังคมบริโภคนิยม พลังงานดังกล่าวครอบคลุมต้นทุนด้านการเดินทาง การขนส่ง การให้แสงสว่าง การทำงานของเครื่องทำความเย็น การใช้งานอุปกรณ์สำนักงาน โดยเฉพาะแก็สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการจัดเตรียมอาหารในเขตเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์หลายคน สงสัยว่าถ้าขาดแคลนพลังงาน พวกเราชาวมนุษย์จะใช้ชีวิตกันอย่างไร แต่ก็มีคำถามว่าเมื่อ 200 ปีก่อนหน้านี้ยังไม่มีพลังงานที่ได้จากซากดึกดำบรรพ์มาใช้ มนุษย์ก็ยังอยู่กันได้ แล้วถ้าอีก 200 ปีข้างหน้าไม่มีน้ำมัน ไฟฟ้า หรือแก็สหุงต้ม จะอยู่กันไม่ได้หรือ

    พลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่หวังเป็นที่พึ่ง มีการคิดค้นหลังงานทดแทนมาใช้มากมาย ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear) เป็นต้น แต่ทุกแหล่งพลังงานมีปัญหาที่แตกต่างกันจนไม่สามารถระบุได้ว่าพลังงานใดจะเป็นทางเลือกหลักที่ดีที่สุด เพื่อทดแทนพลังงานที่เคยได้จากซากดึกดำบรรพ์ ระยะนี้มีข่าวทางทีวีว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือความปลอดภัย และความคุ้มค่าในการลงทุน

    สถิติการใช้พลังงานในประเทศไทยเมื่อปี 2543 แยกแหล่งพลังงานเป็น 6 แหล่งใหญ่ มีหน่วยเป็นเปอร์เซนต์เทียบกับการใช้ทั้งหมด คือ ก๊าซธรรมชาติ 36.98% น้ำมันเตา 11.85% ลิกไนต์ 15.97% พลังน้ำ 5.47% น้ำมันดีเซล 0.16% พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อ 29.57% ถ้าซื้อเขาไม่ได้และเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หมดไปก็คงเหลือแต่พลังงานน้ำ ซึ่งเราทุกคนทราบดีว่าไม่เพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน จึงมองหาพลังงานทดแทนที่จะใช้สำหรับมนุษย์ชาติในช่วงต่อไป

    อุปกรณ์ไอทีก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องใช้พลังงาน แม้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ OLPC (One Laptop per Child) ที่ออกแบบมาให้สามารถใช้มือหมุนเพื่อให้พลังงานได้ระยะหนึ่ง แต่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่ยั่งยืนสำหรับอุปกรณ์ไอทีส่วนใหญ่ หากในอนาคตเราต้องลดการใช้พลังงานด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ราคาแพงจนไม่มีให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยอย่างในปัจจุบัน หรือประเทศผู้ผลิตน้ำมันประกาศว่าจะไม่ขายน้ำมันอีกต่อไปเพราะต้องการสำรองไว้ใช้เฉพาะในประเทศของตนเท่านั้น คำถามคืออุปกรณ์ไอทีแบบใดบ้างที่ต้องเลิกใช้ เพื่อสำรองพลังงานไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น แม้นี่จะไม่ใช่คำถามที่ต้องตอบในปัจจุบัน แต่ถ้าวิกฤตพลังงานยังไม่คลี่คลายลงในอนาคต ก็คงต้องมีคำตอบกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
115. คลิ๊ปโป๊ดารารู้ทั่วโลกในวันเดียว
114. พลังงานทดแทนสำหรับอุปกรณ์ไอที
113. ความไม่เข้ากันของอุปกรณ์
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com