กฎหมายคอมพิวเตอร์กับข่าวแฮ็กเว็บไซต์
 
# 100 กฎหมายคอมพิวเตอร์กับข่าวแฮ็กเว็บไซต์
19 สิงหาคม 2550 - 26 สิงหาคม 2550

    ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ในโลกของเรามีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ และเป็นเรื่องใหม่มีพัฒนาการไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ (Century) จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาคุ้มครองสิทธิของนักคอมพิวเตอร์ และผู้เกี่ยวข้องให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ให้ใครใช้สิทธิของตนจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่๒๗ ก จะพบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ทำให้นักคอมพิวเตอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เช่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูล ผู้ให้บริการข้อมูล และผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคน ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างรู้ว่าการให้เหตุผลว่าไม่รู้กฎหมายไม่สามารถทำให้พ้นผิดเมื่อกระทำผิดกฎหมาย การหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ในอินเทอร์เน็ตจากแหล่งข้อมูลของทางราชการ สามารถเข้าไปที่ http://ratchakitcha.soc.go.th

    ในหมวดที่ ๑ ของกฎหมายฉบับนี้เน้นการกำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดที่ครอบคลุมระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ การส่งข้อมูลขยะ การเผยแพร่ข้อมูลโดยมิชอบ การสนับสนุนยินยอมให้เกิดการกระทำความผิด และการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน แม้ไม่ใช่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น แต่ทุกคนควรรู้กฎหมายเพื่อมิให้ถูกละเมิดเหมือนเช่นในอดีต เช่น ถูกตัดต่อรูปถ่าย (Photo Retouch) ถูกเผยแพร่วีดีโอคลิป (Video Clip) รับอีเมลขยะ (Junk Mail) ถูกบุกรุกเข้าระบบ (Intruder) ถูกลักลอบดักข้อมูล (Sniffing) หรือทำให้ข้อมูลเสียหาย (Damage Data)

    เว็บไซต์ขององค์กรเสมือนหน้าตาสำหรับนำเสนอข้อมูลที่เข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีซอฟต์แวร์ที่องค์กรนำมาใช้เพื่อเปิดบริการเว็บไซต์ บริการฐานข้อมูล บริการเชื่อมต่อเครือข่าย และระบบรักษาความปลอดภัย โดยซอฟต์แวร์เหล่านั้นถูกพัฒนาโดยมนุษย์เพียงไม่กี่กลุ่มจึงเป็นที่นิยม และนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มีนักคอมพิวเตอร์มากมายศึกษาจุดบกพร่องของโปรแกรมเหล่านั้น เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของตนซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การหาจุดบกพร่องเป็นการใช้ความรู้รอบด้าน เป็นสิ่งที่พึงกระทำของผู้ดูแลระบบหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการปิดจุดบกพร่องเหล่านั้นในซอฟต์แวร์ของตน แต่ถ้าการหาจุดบกพร่องของซอฟต์แวร์กระทำโดยคนนอกและนำไปใช้ในทางลบ เช่น การแฮกระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Hacking) การเขียนไวรัส (Virus) การแฮกเว็บไซต์ (Website Hacking) การแคล็กซอฟต์แวร์ (Software Cracking) ย่อมเป็นการแสดงความสามารถที่ไม่ถูกต้องจนอาจถูกปรับ หรือจำคุกในที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2550 มีการแฮกเว็บไซต์ขององค์กรที่ถูกเชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย การแสดงความสามารถแบบนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ก็หวังว่าภาครัฐจะจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป หวังว่าเยาวชนไทยจะเรียนรู้กฎหมายนี้อย่างเข้าใจ และไม่มีใครทำผิดแบบนั้นอีก
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
101. เตือนภัยไวรัสจากเพื่อนในเอ็มเอสเอ็น
100. กฎหมายคอมพิวเตอร์กับข่าวแฮ็กเว็บไซต์
99. ภาพยนต์เกี่ยวกับ11ฮ็กเก0ร์
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com