วิวัฒนาการของมนุษย์กับ CamFrog
 
# 70 วิวัฒนาการของมนุษย์กับ CamFrog
29 มกราคม 2550 - 4 กุมภาพันธ์ 2550

    ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2549 มีข่าวเกี่ยวกับโปรแกรมแคมฟร็อก (CamFrog) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสนทนาผ่านกล้องเว็บแคม แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงทฤษฎีของชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ กำเนิดพืชและสัตว์ต่าง ๆ (The Original of Species) เมื่อ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2402 ซึ่งอธิบายการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตว่ามีวิวัฒนาการจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีผลมาจากสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องปรับสภาพตามสภาพแวดล้อม เพื่อการดำรงอยู่ต่อไป โดยเรียกทฤษฎีนี้ว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ซึ่งได้รับการต่อต้านจากหลายกลุ่ม แม้ตัวผู้เขียนเองก็ไม่เชื่อทฤษฎีนี้ เพราะเชื่อคำโบราณที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม

    เนื้อข่าวเกี่ยวกับแคมฟร็อกให้ข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ และถูกเสนอให้องค์กรต่าง ๆ ปิดบริการนี้ ป้องกันเยาวชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในด้านลบ เยาวชนที่ใช้โปรแกรมนี้อาจถูกล่อลวงให้เปลื้องผ้าอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือที่เรียกว่าโชว์สยิว เพราะคล้อยตามสภาพแวดล้อมของกลุ่มคนที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องเดียวกัน จนเชื่อว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติ และไม่เสียหาย จากการสืบค้นพบผู้ใช้ที่ลงทะเบียนในฐานะชาวลำปางอยู่ไม่น้อย

    อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีของชาร์ลดาวิน ตรงข้ามกับความเชื่อทางศาสนา และอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนแก้วสารพัดนึกที่ขึ้นอยู่กับผู้สร้าง และผู้ใช้จะจินตนาการ ถ้ามนุษย์ผู้ประเสริฐรู้จักใช้อย่างถูกต้องก็จะใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ แต่มนุษย์บางคนอาจไม่ประเสริฐอย่างที่ควร จนอดคิดไม่ได้ว่ามนุษย์คือสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เซลเดียวในทะเลอาจเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้เดวิด ไรช (David Reich) เป็นหนึ่งในทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และสถาบันบรอดของฮาร์วาร์ด ได้รายงานว่ารหัสพันธุกรรมของมนุษย์ (DNA) ใกล้เคียงกับลิงชิมแปนซีกว่า 96% ถ้าเป็นไปได้การเลือกเชื่อว่าพระอินทร์ส่งเรามาเกิด ตามบทละครในทีวีช่อง 7 อาจทำให้รู้สึกว่าเรามีศักดิ์ศรีกว่าการเป็นเพียงสายพันธ์หนึ่ง หรือผลจากการลองผิดลองถูกในกระบวนการทางวิวัฒนาการ

    ประเทศไทยมีชาวพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่มีข่าวออกมาว่าประเทศไทยใช้บริการ แคมฟร็อกเป็นอันดับ 3 ของโลกจากทั้งหมด 245 ประเทศ ถ้ามองในแง่บวกอาจชี้ให้เห็นได้ว่าคนไทยใช้เว็บแคม (WebCam) เพื่อการสื่อสารอย่างแพร่หลาย เช่น ประชุมออนไลน์ เรียนผ่านกล้อง หรือติดต่อค้าขาย เป็นต้น หวังว่าโรงเรียนหลายแห่งที่สอนนักเรียนให้รู้จักใช้ประโยชน์จากไอที จะเน้นให้พวกเขารู้จักใช้ในทางที่สร้างสรรค์ และคิดบวกอย่างมนุษย์ผู้ประเสริฐควบคู่กันไป ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูสอนนักเรียนให้เป็นมนุษย์ในอุดมคติ และมีความคิดที่สร้างสรรค์ เพื่อสังคมที่น่าอยู่ของพวกเราชาวมนุษย์
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
71. ส่งเอสเอ็มเอสกันเป็นว่าเล่น
70. วิวัฒนาการของมนุษย์กับ CamFrog
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com