หน้าแรก ธุรกิจ บทความ Down Load เชื่อมโยง Glossary

สมุดเยี่ยม 

ปี 2006 p1

ปี 2005 p2

ปี 2005 p1 ปี 2004 p2 ปี 2004 p1 ปี 2003 p1 ปี 2002
Beyond Oil : เมื่อน้ำมันหมด (1-2)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร  คอลัมน์ แยบยลกลยุทธ์ ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3917 (3117)

ในราว 3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อน้ำมัน ลดราคาลงเหลือประมาณลิตรละ 25 บาท คนไทยส่วนใหญ่คาดว่า ราคาน้ำมันจะไม่กลับมาแตะลิตรละ 30 บาทอีก ทั้งนี้เพราะสถานการณ์โลกเริ่มเข้าสู่ ภาวะปกติ สหรัฐอเมริกายังไม่มีวี่แววว่า จะบุกอิหร่าน เนื่องจากชาวอเมริกันและประเทศส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ตามธรรมดา ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไป นักวิเคราะห์ มักอ้างสถานการณ์โลก การเก็งกำไรจากกองทุน หรือมีภัยพิบัติเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำมัน แต่ Kenneth S. Deffeyes ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยพรินซตัน ผู้เขียน Beyond Oil : The View from Hubbert"s Peak กลับมีความเห็นต่างออกไป หนังสือขนาด 200 หน้าซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2005 เล่มนี้จะบอกว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่น่าจะมาจากสาเหตุอย่างที่นักวิเคราะห์กล่าวอ้างเท่านั้น สาเหตุที่สำคัญกว่าน่าจะมาจากปริมาณน้ำมันสำรองโลก เริ่มลดลงจนกระทั่งปริมาณการผลิตใน แต่ละวันเพิ่มขึ้นไม่ได้อีกต่อไป และเมื่อเหตุการณ์เป็นดังที่เขาคาด มวลมนุษยชาติจะฝากความหวังไว้กับแหล่งพลังงานใดได้บ้าง ในอนาคต

ในบทนำ ผู้เขียนพูดถึงปัญหาหนักหนาสาหัสที่มนุษย์เรากำลังจะต้องเผชิญ นั่นคือปริมาณการผลิตน้ำมันจะหยุดเพิ่มขึ้นแล้ว เริ่มลดลงเป็นครั้งแรก นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อปี 1969 M. King Hubbert นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันได้คาดการณ์ไว้ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของโลกน่าจะอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2000 ส่วนปริมาณการผลิตของสหรัฐจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1970 ผู้เขียนเริ่มให้ความสนใจต่อปัญหาการแสวงหาน้ำมันตั้งแต่ปี 1958 เมื่อเขาเริ่มทำงานกับห้องวิจัยของบริษัทเชลล์ในเมืองฮุสตัน ทั้งนี้เพราะ เขาสังเกตว่า บริษัทต่างๆ ในวงการน้ำมัน ดูเหมือนจะเก็บสะสมเงินสดไว้มากผิดปกติและมีการซื้อหุ้นคืน ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันและความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้น เขาจึงเริ่มสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์เราได้ค้นพบน้ำมันหมดแล้ว หรือการขุดเพิ่มขึ้นไม่ทำให้ได้ผลผลิต และกำไรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หากเป็นเช่นนั้นจริง มนุษย์เราน่าที่จะหา แหล่งพลังงานทดแทนอย่างจริงจังมา ตั้งแต่ 15 ปีก่อนโน้นแล้วหรือไม่ และโอกาสนั้นได้หลุดลอยไปแล้วอย่างน่าเสียดาย ใช่หรือไม่

บทที่ 1 พูดถึงเหตุที่ทำให้เราต้องมองไปให้ไกลกว่าแค่ปัญหาน้ำมันหมด ผู้เขียนคาดว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2005 อันเป็นวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) น่าที่จะเป็นวันที่ปริมาณการผลิตน้ำมันขึ้นถึงจุดสูงสุด หลังจากนั้นปริมาณการผลิตจะ ลดลงเรื่อยๆ โดยลดลงทีละน้อยในระยะแรก และลดลงอย่างรวดเร็วในภายหลัง สาเหตุที่เขาคาดการณ์ไว้เช่นนั้นเพราะปริมาณการผลิตน้ำมันในปี 2003 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 1998 หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 ต่อปีเท่านั้น ยิ่งเมื่อเขาใช้สมการของ Hubbert ซึ่งคิดค้นไว้ตั้งแต่ปี 1956 คาดการณ์การผลิตน้ำมันในสหรัฐ เขาพบว่ามันแตกต่างจากกลุ่มผู้มองโลกในแง่ดี ที่คำนวณด้วยวิธีของสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าปริมาณการผลิตจะไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุดจนถึงปี 2036

ประวัติของน้ำมันในยุคนี้เริ่มขึ้นในปี 1910 เมื่อบ่อน้ำมันชื่อ Spindle Top ในรัฐเทกซัสของสหรัฐอเมริกาถูกขุดขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก และนับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมโลก เพราะจากวันนั้นมาวิถีชีวิตของมนุษย์เราก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการ เดินทางหรือสิ่งของต่างๆ ที่เราผลิตขึ้นล้วนต้องพึ่งพาน้ำมันทั้งสิ้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ข่าวว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกเริ่มหยุดเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะลดลง มันจึงเป็นข่าวร้าย ธรรมชาติของมนุษย์เรามักไม่ชอบ ฟังข่าวร้ายและหวังว่าข่าวร้ายนั้นจะ หายไปในเร็ววัน แต่ข่าวร้ายเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันนี้คงจะไม่มีทางหายไปแน่ ทั้งนี้เพราะเมื่อใดที่เราสามารถปรับตัวได้จนรู้สึกคุ้นกับปริมาณการผลิตที่ลดลงถึงจุดหนึ่ง ระดับของการผลิตก็จะลดลงไปอีก

บทที่ 2 พูดถึงกำเนิดน้ำมันตามอ่าวด้านในบริเวณไหล่ของมหาสมุทร เช่น ทะเลดำ ที่มีการไหลวนของน้ำนำเอาน้ำทะเลจากบริเวณที่ตื้นซึ่งมีสารอาหารมากออกไปยังส่วนลึกของมหาสมุทร เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำไปซ้ำมาเป็นพันๆ ปี ใต้มหาสมุทร จึงมีสารอินทรีย์ตกตะกอนอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อก่อนบริเวณนั้นขาดออกซิเจน สารอินทรีย์ที่ถูกฝังอยู่ในหินที่ระดับเกินกว่า 7,500 ฟุต จึงเกิดการแตกตัวเป็นโมเลกุล ที่มีขนาด 5-20 อะตอม เรียกว่า น้ำมันดิบ

น้ำมันถูกกักอยู่ในหิน 3 ชนิดด้วยกัน คือ หินทราย ซึ่งมีน้ำมันถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งอยู่ในหินปูน และหินที่มีแร่แคลเซียมแมกนีเซียมคาร์บอเนต โดยมันจะไหลผ่านไปมาระหว่างรูที่เชื่อมกันอยู่ในหิน น้ำมันหนึ่งหยดใช้เวลากว่าร้อยล้านปีในการก่อตัวซึ่งตรงกับยุคไดโนเสาร์

เนื่องจากแหล่งน้ำมันมีทั้งในทะเล และบนดิน การสำรวจจึงต้องใช้วิธีต่างกัน วิธีสำรวจน้ำมันในทะเลจะใช้การสะท้อนแบบแผ่นดินไหว ซึ่งใช้ครั้งแรกที่รัฐโอคลาโฮมา เมื่อปี 1922 ส่วนการสำรวจน้ำมันบนแผ่นดินจะใช้เครื่องสั่นสะเทือนที่ตั้งไว้บนรถบรรทุกซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าเป็นสิบเท่า แม้ในปัจจุบัน จะใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยแล้วก็ตาม

โดยทั่วไปนั้นการดูดน้ำมันออกมาจากแหล่งในรอบแรกจะได้น้ำมันออกมาน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของที่มีอยู่ในแหล่งนั้นๆ หลังจากการดูดครั้งที่สองแล้ว น้ำมันกว่าครึ่งก็ยังคงเหลืออยู่ เทคนิคที่ช่วยให้ดูดน้ำมันออกมาได้เพิ่มขึ้นคือ การฉีดน้ำลงไปยังบ่อข้างๆ หรือการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไป เพื่อให้น้ำมันที่เหลืออยู่ในแหล่งกลับไหล ขึ้นมาสู่ปากบ่ออีกครั้ง แต่นั่นก็ยังคงสูบน้ำมันขึ้นมาได้เพียงอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะการสร้างแหล่งผลิตก๊าซชนิดนี้ข้างๆ บ่อน้ำมันยังมีต้นทุนสูง อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมากเพราะต้องเผาถ่านหิน เพื่อผลิตก๊าซ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ จะสามารถคิดค้นหัวเจาะที่แข็งกว่าเดิม หรือใช้ท่อที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเดิม แต่เทคนิคทั้งหมดนี้กลับไม่สามารถที่จะ ทำให้สามารถดูดเอาน้ำมันออกจากแหล่งจนหยดสุดท้ายได้ ดังนั้นหลังปี 2000 บ่อน้ำมัน หลายแห่ง จึงต้องปิดตัวลง ผู้เขียนคาดว่าน้ำมันที่ยังเหลืออยู่ในแหล่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่ น้อยลงเรื่อยๆ อาจนับรวมเข้าไปเป็นปริมาณน้ำมันสำรองได้ แต่มันก็จะไม่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตเพราะเราไม่สามารถ นำขึ้นมาใช้ได้จนหมดด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนสิทธิในการขุดเจาะน้ำมันนั้น แต่ละประเทศมีนโยบายไม่เหมือนกัน ในปัจจุบันสิทธิในการขุดเจาะของประเทศส่วนใหญ่มักเป็นของรัฐ เช่น เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรัก ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้มักตั้งบริษัทของตนเอง เพื่อบริหารผลประโยชน์ที่ได้จากน้ำมัน ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิทธิในการขุดเจาะกลับเป็นของเอกชน หากเอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ดีหากแหล่งน้ำมันอยู่ในทะเล สิทธิยังคงเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นและของรัฐบาลกลางโดยใช้ระยะห่างจากฝั่งเป็น จุดแบ่ง

ปกติราคาของสินค้าจะถูกกำหนด โดยอุปสงค์และอุปทานซึ่งในกรณีของน้ำมัน ก็เช่นเดียวกัน แต่ในอดีตอิทธิพลด้านอุปสงค์ จะมีผลต่อราคาน้ำมันมากกว่า ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันถูกกำหนดโดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) โอเปกจะรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ที่ 22-28 เหรียญต่อบาร์เรลด้วยการปรับกำลังการผลิต หากราคาน้ำมันสูงกว่าบาร์เรลละ 28 เหรียญ โอเปกมักจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันลดลง แต่เมื่อการผลิตของกลุ่มโอเปก ซึ่งได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วตั้งแต่ปี 2002 ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปถึงบาร์เรลละ 33 เหรียญเมื่อปี 2004 โอเปกกลับลดกำลังการผลิตลง นั่นหมายความว่า โอเปกไม่สามารถที่จะควบคุมราคาน้ำมัน ด้วยกำลังการผลิตของตนเองได้อีกต่อไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ จึงมีความเห็นตรงกันว่า นับจากนี้ไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องเผชิญหน้ากับราคา น้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อันเป็นการเปลี่ยนไปตามอิทธิพลด้านอุปสงค์นั่นเอง

หน้า 50


Beyond Oil : เมื่อน้ำมันหมด (2)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3918 (3118)

บทที่ 3 พูดถึงวิธีคำนวณการ ผลิตน้ำมันของ M.King Hubbert นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในสมการทางคณิตศาสตร์ของ Hubbert อย่างแน่นอน หลังจากผู้เขียนศึกษางานของ Hubbert อย่างละเอียดลออก็เข้าใจที่มาของสมการนั้น และทราบว่าเขานำข้อมูลการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกา มาเป็นฐานในการคิดสมการ ผู้เขียนได้นำข้อมูลของปริมาณการผลิตน้ำมันสะสม กับสัดส่วนระหว่างการผลิตรายปีต่อการผลิตสะสม มาบรรจุลงบนกราฟ และพบว่ามันเป็นเส้นตรงหลังจากปี 1958 ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกำลังการผลิตสะสมย่อมเพิ่มขึ้นเมื่อ เวลาผ่านไป เส้นตรงเส้นนี้จะตัดกับเส้นตามแนวนอนที่ 2.28 แสนล้านบาร์เรล อันเป็น จุดที่น้ำมันหยดสุดท้ายของสหรัฐอเมริกาถูก ดูดขึ้นมาใช้นั่นเอง ข้อมูลนี้แตกต่างจาก ที่สำนักงานทรัพยากรธรณีอเมริกันคำนวณไว้ ซึ่งได้แก่สหรัฐมีน้ำมันสำรองสูงถึง 3.62 แสนล้านบาร์เรล นั่นหมายความว่าเส้นตรงเส้นนี้ มีการหันหัวกลับ หรือไม่สหรัฐก็ได้นับเอาน้ำมันสำรองของอิรักเป็นของตัวแล้ว

นอกจากสมการของ Hubbert แล้ว การใช้วิธีที่มีชื่อว่า logistic curve ของ Pierre Francois Verhulst ชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นกราฟเช่นกันก็เป็นการคำนวณปริมาณการผลิตที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง กราฟนี้จะเป็นรูประฆังคว่ำ ซึ่งสมมาตรกันทั้งสองข้างโดยมีพื้นที่ใต้กราฟเป็นปริมาณ ปีที่ผลิตได้ปริมาณสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ใต้กราฟขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด กราฟนี้คำนวณได้ว่าปริมาณ การผลิตของสหรัฐอเมริกาจะขึ้นถึงจุดสูงสุด ในปี 1976 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือ ปริมาณการผลิตของสหรัฐขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วตั้งแต่ปี 1970 โดยสหรัฐมีกำลังการผลิตสะสมที่ 1 แสนล้านบาร์เรลในปี 1972 จากการคำนวณโดยกราฟนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2005 นอกจากนั้นผลการวิเคราะห์จากการใช้กราฟพบว่า ราคาน้ำมันมีผลต่อการผลิตบ้าง แต่ไม่มากนัก

เป็นที่ทราบกันดีว่าการผลิตน้ำมันเป็น ขั้นตอนสุดท้ายของห่วงโซ่อุปทานซึ่งเริ่มจากการค้นหาแหล่งน้ำมัน หลังการเริ่มขุดเจาะหลุมแรกอาจมีหลุมอื่นๆ ใหญ่น้อยตามมาจน กระทั่งย่านนั้นกลายเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำมันสำรองจากแหล่งต่างๆ จะถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศและของโลก บทความของ Hubbert ในปี 1962 ใช้คำว่าค้นพบ (discovery) ซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำมันสะสม ที่พบในแต่ละปีรวมกับปริมาณน้ำมันสำรองของปีนั้นๆ วิธีการวิเคราะห์การค้นพบเป็น เช่นเดียวกันกับการผลิตคือ การบรรจุข้อมูลของการค้นพบสะสมตามแนวนอนและการค้นพบในแต่ละปีหารด้วยการค้นพบสะสมในแนวตั้ง ผลจากการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์จะพบว่าโลกได้ผ่านจุดสูงสุดของการค้นพบไปแล้ว ตั้งแต่ปี 1977

วิธีการนับจำนวนบาร์เรลที่คาดว่าจะค้นพบจากแหล่งน้ำมันใหม่ๆ คือ การสร้างกราฟระหว่างจำนวนน้ำมันสะสมในแนวนอน กับสัดส่วนของจำนวนที่พบต่อจำนวนสะสม ในแนวตั้ง จากกราฟจะพบว่าปริมาณน้ำมัน ที่คาดว่าจะพบคือ 2.013 ล้านล้านบาร์เรล แต่ในปี 1965 โลกได้ค้นพบแหล่งน้ำมันไปแล้วถึงร้อยละ 94 ดังนั้น หากดูตัวเลขทั้งหมดจะพบว่า ปริมาณน้ำมันที่พบและที่ผลิตจะเท่ากัน ที่ 2.013 ล้านล้านบาร์เรล โดยการค้นพบ แหล่งใหม่ๆ จะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ปี 1964 ส่วนปริมาณน้ำมันที่พบจะขึ้นถึงจุดสูงสุด ที่ปี 1978 และปริมาณการผลิตจะขึ้นถึง จุดสูงสุดในปี 2005

บทที่ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ การค้นพบก๊าซธรรมชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน กับการค้นพบน้ำมัน เพียงแต่หน่วยนับต่างกันเท่านั้น นั่นคือ ก๊าซธรรมชาติจะค้นพบที่ระดับความลึกมากกว่า 15,000 ฟุต และมีขนาดเพียง 1 อะตอมเท่านั้น หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่ามีเทน (CH4) แต่การผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมีความต่างกันบ้างคือ การผลิตก๊าซไม่จำเป็นต้องมีปั๊ม มีเพียงท่อ และลิ้นปิดเปิดเท่านั้น ต้นทุนของการเชื่อมท่อจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด หากแหล่งใดมีปริมาณก๊าซเพียงเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมท่อจะสูงกว่าปริมาณก๊าซที่ดึงออกมาใช้ได้ โดยทั่วไปแล้วก๊าซเป็นผลพลอยได้ จากการผลิตน้ำมัน ยิ่งผลิตน้ำมันมากเท่าใด ก็ยิ่งได้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ราคาของก๊าซลดลงเหลือเพียง 3-7 เซนต์ ต่อ 1 พันลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น แหล่งน้ำมัน บางแห่งมีปริมาณก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมันแหล่งนั้นๆ จึงสามารถแยกกันผลิต ระหว่างน้ำมันและก๊าซได้โดยอาจเจาะลงไปเฉพาะระดับที่มีน้ำมันเท่านั้น

แหล่งก๊าซธรรมชาติที่พบมากของสหรัฐอเมริกาคือ ทางตะวันตกของรัฐนิวยอร์กและรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแนวขนานไปกับชายฝั่งทะเลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ การขุดเจาะก๊าซจากแหล่งแบบนี้ไม่ยากนักหากสามารถกำหนดตำแหน่งที่ถูกต้องได้ อย่างไรก็ดี เมื่อความต้องการก๊าซเพิ่มขึ้น การค้นหาแหล่งก๊าซที่มิใช่แหล่งแบบเดิมๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ก๊าซที่เป็นที่นิยมคือ ก๊าซในบึง (swamp gas) ซึ่งเป็นแหล่งที่มี ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการผลิตของแบคทีเรีย ณ อุณหภูมิปกติโดยอาศัยรากหญ้า แหล่งก๊าซชนิดนี้ ที่ได้รับการศึกษามากที่สุดอยู่ที่รัฐมอนแทนาและในรัฐแอลเบอร์ตา ของแคนาดา แต่ปริมาณของก๊าซกลับมีไม่มากพอที่จะดึงดูดการลงทุน อย่างไรก็ดี การที่แหล่งก๊าซประเภทนี้อยู่ตื้นและมีต้นทุนต่ำในการดึงออกมาใช้กำลังทำให้มันเป็นที่สนใจของประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนั้นยังมีก๊าซในอ่าง (basin- center gas) ซึ่งอยู่ในรูระหว่างหินบางชั้น แหล่งที่พบหินเหล่านี้คือ รัฐนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐไวโอมิง และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก แต่แหล่งเหล่านี้กลับเป็น แหล่งที่ไม่น่าสนใจเพราะการดึงก๊าซออกมาใช้ทำได้ค่อนข้างยาก รัฐจึงต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มแรงจูงใจทางด้านภาษี กับแหล่งที่ผลิตได้น้อยกว่า 9,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้นักลงทุนยอมลงทุนดึงก๊าซ เหล่านี้ออกมาใช้ เพราะความต้องการของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการผลตอบแทนในการลงทุนสำหรับการขุดเจาะหาแหล่งใหม่ๆ มักอยู่ที่ร้อยละ 10-15 โดยทั่วไปแล้วร้อยละ 75 ของการค้นหาจะพบหลุมเปล่า ร้อยละ 18 พบหนึ่งพันล้านลูกบาศก์ฟุต ร้อยละ 5 พบสิบล้านลูกบาศก์ฟุต และเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีโอกาสพบกว่าแสนล้านลูกบาศก์ฟุต แหล่งก๊าซประเภทนี้ให้ปริมาณก๊าซเพียงเล็กน้อยจึงไม่เหมาะกับการผลิตในเชิงการค้าและไม่น่าที่จะเป็นหนทางในการ แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่โลกกำลังขาดแคลนพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้นผลตอบแทนในการลงทุนยังต่ำ ใกล้เคียงกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น แต่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยง

ในอดีตการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะก๊าซเป็นสินค้า ที่มีราคาแพง แต่หลังจากการระเบิดของ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และเมื่อต้นทุนในการผลิตก๊าซลดลงมาก สหรัฐอเมริกาใช้ก๊าซในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึงร้อยละ 24 ใช้ในอุตสาหกรรมร้อยละ 35 ใช้ในการทำความร้อนให้กับอาคารและที่อยู่อาศัย ร้อยละ 16 และ 25 ตามลำดับ ทำให้ การบริโภคก๊าซเฉลี่ยวันละ 6 หมึ่นล้าน ลูกบาศก์ฟุตในปัจจุบัน

ก๊าซธรรมชาติเป็นที่นิยมสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์เพราะมันเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่าน้ำมัน แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีปั๊มก๊าซธรรมชาติ บริษัทฮอนด้าจึงผลิตเครื่องอัดก๊าซตามบ้านขึ้น สินค้านี้เป็นที่นิยมมากอยู่ ระยะหนึ่งเพราะมันมีต้นทุนต่ำและทำให้ ชาวอเมริกันสามารถเลี่ยงภาษีน้ำมันได้ไป ในตัว ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อความต้องการก๊าซเพิ่มสูงขึ้นมากในฤดูหนาวของปี 2002-2003 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซสำรองของสหรัฐลดต่ำลง บ้านที่ไม่จ่ายเงินค่าก๊าซธรรมชาติจึงถูกตัด ท่อก๊าซ

ผู้เขียนสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นที่ต้องการมากขึ้น หากสหรัฐต้องการรักษาระดับการผลิตก๊าซเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำนวนบ่อที่จะต้องขุดเจาะจะต้องเพิ่มขึ้น ทุกๆ ปี ทั้งนี้เพราะบ่อในปัจจุบันจะมีอายุ ใช้งานลดลงเรื่อยๆ

หน้า 42


Beyond Oil : เมื่อน้ำมันหมด (3)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3919 (3119)

บทที่ 5 เป็นเรื่องของถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในแง่ของจำนวนและราคา เพราะมันมีจำนวนมาก และราคาถูกจนนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันสามารถที่จะเป็นแหล่งพลังงานได้อีกหลายร้อยปี แต่มันกลับเป็นแหล่งพลังงาน ที่เลวในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะมันก่อให้เกิดมลพิษ ฝนกรด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารปรอท ยิ่งเมื่อถ่านหินที่ถูกเผาไหม้ผสม รวมกับไอน้ำมันด้วยแล้ว มันจะทำให้เกิดส่วนผสมระหว่างน้ำและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก

ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายถ่านหินที่ถูกที่สุด คือการขนทางน้ำ อย่างไรก็ดีการขนย้ายด้วยวิธีนี้ยังคงมีต้นทุน ฉะนั้นจึงเกิดการตั้ง โรงไฟฟ้า ณ เหมืองถ่านหินขึ้นเพื่อลดต้นทุน แต่มัน ก็ทำให้ปริมาณมลพิษ ในบริเวณนั้น เพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่า ควรให้มีมลพิษกระจายอยู่ทั่วไปแห่งละเล็กละน้อย หรือให้มีมลพิษกระจุกตัวอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่งแต่มีปริมาณมากกันแน่ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเมื่อโลกมีปริมาณน้ำมันลดลง เราจึงควรสงวนน้ำมันไว้เพื่อใช้ในการบินเพียงอย่างเดียว ใช้ก๊าซธรรมชาติในการขับเคลื่อนรถยนต์ แล้วหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินแทนที่ก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าปัญหาเรื่องมลพิษจากถ่านหิน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันและยังไม่สามารถแก้ไขได้ก็ตาม

บทที่ 6 เป็นเรื่องของทรายยางมะตอย (tar sand) ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้จักกันมาแต่โบราณ เพราะมันเป็นสารที่ใช้ยาเรือของโนอาห์ใน พระคัมภีร์ไบเบิ้ล และใช้ในการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์ แม้ว่าทรายยางมะตอยจะพบได้ใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก แต่แหล่งใหญ่มีเพียงสองแห่งเท่านั้นคือ ในจังหวัดอัลเบอร์ตาของแคนาดาและทางเหนือของแม่น้ำโอริโนโคในเวเนซุเอลา อย่างไรก็ดีน้ำมันจากแหล่งประเภทนี้มีความหนืดสูงเกินกว่าที่จะไหลไปตามท่อได้ ทางแก้ไขได้แก่การผสมน้ำมันนี้กับน้ำมันที่เบากว่า แต่น้ำมันที่เบากว่ากลับมีแหล่งกำเนิดที่ห่างไกล ฉะนั้นหากต้องการจะผลิตน้ำมันจากทรายยางมะตอยก็จะต้องตั้งโรงกลั่น ณ แหล่งกำเนิดของมัน เพื่อทำให้มันไหลไปตามท่อได้ การผลิตน้ำมันจากแหล่งนี้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า cyclic steam stimulation นั่นคืออัดไอน้ำลงไปในบ่อประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ไอน้ำนั้นบ่มน้ำมันก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วดูดน้ำมันออกมาจากบ่อ แม้ว่า บ่อชนิดนี้จะให้น้ำมันเพียงร้อยละ 20 แต่ยังคงคุ้มค่าเพราะบ่อมีขนาดใหญ่มากและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

บ่อทรายยางมะตอยแรกอยู่ในบริเวณ แม่น้ำเอธาบาสกาในแคนาดา น้ำมันจากบ่อนี้อยู่ ณ ระดับความลึกเพียงแค่ 200 ฟุตเท่านั้น การนำออกมาใช้จึงคล้ายกับบ่อน้ำมันที่ขุดกันอยู่ทั่วไป ในปัจจุบันบริษัทเชลล์ได้เข้าไปลงทุนผลิตน้ำมันจากแหล่งนี้แล้ว ในปี 2004 น้ำมันที่ผลิตขึ้นจากแหล่งประเภทนี้คิดเป็นร้อยละ 33 ของน้ำมันที่ผลิตขึ้นทั้งหมดในแคนาดา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแหล่งประเภทนี้จะมีน้ำมันมากถึง 1 ล้านล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามการผลิตในปริมาณมากขึ้นไปอีก คงยากที่จะทำได้ เพราะ 1)การผลิตจากแหล่งประเภทนี้ต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิต 2)น้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอีกชนิดหนึ่งไม่สามารถหาได้ในปริมาณมากในบริเวณใกล้ๆ 3)หากต้องการผลิตเพิ่มมากขึ้นต้องใช้เงินลงทุนอีกถึง 2-5 พันล้านเหรียญ ซึ่งมากเสียจนกระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่สองแห่ง ชะลอการลงทุนไปแล้ว และ 4) แหล่งนี้ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านกายภาพ และบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกร

แหล่งน้ำมันประเภทนี้ที่แม่น้ำโอริโนโค ในประเทศเวเนซุเอลา มีน้ำมันประมาณ 1.2 ล้านล้านบาร์เรล ทว่าในปี 1999 ผลิตได้เพียง 54,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น บ่อที่นี่ง่ายต่อการขุดเจาะเพราะอากาศที่อบอุ่นกว่าบ่อในแคนาดา จึงมีโครงการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังติดขัดเรื่องปัญหาการเมืองภายในประเทศ น้ำมันที่ได้จากแหล่งนี้มีสภาพเหมือนน้ำมันจากแหล่งในแคนาดา นั่นคือเป็นน้ำมันหนัก จึงต้องผ่านกระบวนการ ทำให้มันกลายเป็นน้ำมันเบา แม้ว่าน้ำมันจากทรายยางมะตอยจะมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 8 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตขึ้นถึงจุดสูงสุด ช้าลง และกระบวนการผลิตยังต้องอาศัยพลังงานชนิดอื่นๆ แต่ผู้เขียนสรุปว่าแหล่งนี้ ยังน่าจะเป็นความหวังสำหรับอนาคตได้

บทที่ 7 พูดถึงหินน้ำมัน (oil shale) ซึ่งเป็นหินที่ไม่มีความเก่าแก่พอที่จะเป็นน้ำมันดิบปิโตรเลียมได้ เนื่องจากหินชนิดนี้ 1 ตันสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 1 บาร์เรล จึงทำให้บริษัทหลายแห่งพยายามที่จะผลิตน้ำมันจากแหล่งประเภทนี้ อย่างไรก็ตามความพยายามกลับล้มเหลว แหล่งใหญ่ของหินน้ำมันอยู่ที่เอสโตเนีย และแม่น้ำเขียวในรัฐไวโอมิงและ ยูทาห์ของสหรัฐอเมริกา อันที่จริงแหล่งประเภทนี้เคยเป็น ที่ผลิตน้ำมันมาก่อน แต่เมื่อมนุษย์เราพบแหล่งน้ำมันอื่นที่สามารถผลิต ได้ง่ายกว่า แหล่งเหล่านี้จึงถูกละทิ้งไป

เมื่อโลกต้องเผชิญหน้ากับการขาดแคลนน้ำมัน แหล่งประเภทนี้จึงกลับมาได้รับความสนใจอีกคำรบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่แม่น้ำเขียวซึ่งมีขนาดใหญ่มากและมีปริมาณถึงร้อยละ 60 ของหินน้ำมันของโลก หากแหล่งนี้ได้รับความร้อน ปริมาณน้ำมันที่ผลิตขึ้นอาจมากกว่าปริมาณน้ำมันที่ผลิตขึ้นจากตะวันออกกลางเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นแม่น้ำสายนี้ยังมีสารเคมีถึง 9 ชนิด ที่ไม่พบในบริเวณอื่นใดของโลกเลย บริเวณนี้จึงน่าจะ มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากบริเวณอื่นๆ ของโลก

โดยทั่วไปแล้วแหล่งหินน้ำมันมักมีต้นกำเนิดมาจากสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นมหาสมุทรมาก่อน หากแหล่งน้ำมันนั้นๆ ที่ไม่เคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน น้ำมันที่พบจะมีเปอร์เซ็นต์ของโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนขนาดใหญ่มากกว่า และเป็นเส้นตรงซึ่งแตกต่างจากแหล่งน้ำมันที่เคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน โมเลกุลประเภทนี้จะทำให้เกิดการตกผลึกที่อุณหภูมิห้อง ปรากฏการณ์นี้ได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งไปเยี่ยมชมซากสัตว์มีชีวิตของทะเลสาบแม่น้ำเขียว เขาบอกกับนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมชาวอเมริกันว่า แหล่งน้ำมันในจีนก็มาจากแหล่งที่มิได้เป็นแหล่งน้ำมาก่อนเช่นกัน การขนส่งน้ำมันที่ได้จากแหล่งประเภทนี้จึงยากเย็นเพราะมันตกผลึกที่อุณหภูมิห้อง แม้การคำนวณจะพบว่าแหล่งนี้น่าที่จะมีน้ำมันถึง 1.5 ล้านล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าน้ำมันสำรองของตะวันออกกลางถึง 4 แสนล้านบาร์เรล แต่แหล่งนี้ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันในเชิงการค้าได้ มันจึง มีค่าเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน

นอกจากปัญหาเรื่องผลึกแล้ว ปริมาณหินที่เหลือหลังการผลิตน้ำมันยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการกำจัดตามมา ซ้ำร้ายในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถที่จะคิดค้นวิธีนำหินนี้ กลับมาใช้ผลิตสิ่งใดหรือดึงผลผลิตใดออกมาได้อีกด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ความพยายามมากเท่าใดแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นน้ำมันที่ได้จากแหล่งประเภทนี้ยังเป็นน้ำมันเกรดต่ำ จึงทำให้มันต้องผ่านกระบวนการเพิ่มไฮโดรเจน ซึ่งมาจากน้ำหรือมีเทน แต่การนำน้ำมาเป็นแหล่งในการเพิ่มไฮโดรเจนให้กับน้ำมันยาก ที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะผู้คนบริเวณใกล้เคียง มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเช่นกัน จึงเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขา

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่มนุษย์เราจะสามารถนำน้ำมันจากแหล่งนี้มาใช้ได้ ต้องแก้ปัญหา เกี่ยวกับผลิตผลพลอยได้ให้ได้เสียก่อน ซึ่งอาจต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างแบบจำลองต่างๆ ก็เป็นได้

หน้า 50


Beyond Oil : เมื่อน้ำมันหมด (จบ) - คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3920 (3120)

บทที่ 8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับยูเรเนียม เป็นที่ทราบกันดีว่า พลังงานนิวเคลียร์มาจากการทำปฏิกิริยารวมตัวหรือแตกตัวของสารเคมี โดยที่สารตั้งต้นจะต้องมีพลังงานมากกว่าสารที่เกิดขึ้น หลังสิ้นสุดการทำปฏิกิริยา ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่า หากเพิ่มนิวตรอนเข้าไปในธาตุยูเรเนียมจะส่งผลให้ มันแตกตัวเป็น 2 นิวเคลียสที่มีขนาดพอๆ กัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 Leo Szilard and Eugene Wigner จึงนำสมการของ ไอสไตน์มาใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกรรมวิธี แยกยูเรเนียม 235 และสร้างสารใหม่ขึ้น ได้แก่ พลูโตเนียม ผลลัพธ์คือระเบิดที่ทิ้ง ที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าธาตุยูเรเนียมจะมีปริมาณมาก และราคาถูก แต่ต้นทุนในการสร้างโรงงาน กลับมีราคาสูงเพราะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มีราคาสูงมาก อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นด้วยกับบทความของ Hubbert ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1956 ว่า พลังงานนิวเคลียร์น่าจะเป็นพลังงาน ที่นำมาทดแทนพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ แต่หลังการระเบิดของโรงงานนิวเคลียร์ในปี 1986 ความกลัวภยันตรายทำให้ผู้คนต่างไม่ต้องการใช้พลังงาน จากแหล่งประเภทนี้ส่งผล ให้สหรัฐอเมริกาเลิกตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่นั้นมา นั่นหมายความว่า สหรัฐคงต้องรออีกนานกว่าประชาชนจะยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าจากนิวเคลียร์อีกถึงแม้ว่า วุฒิสภาได้ผ่านกฎหมายเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2003 ก็ตาม ฉะนั้นอาจ เป็นไปได้ว่า ชาวอเมริกันต้องเผชิญหน้ากับ การขาดแคลนพลังงานเสียก่อนถึงจะยอมให้ มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานชนิดนี้ ก็เป็นได้

บทที่ 9 เป็นเรื่องของไฮโดรเจน มนุษย์สามารถใช้กระแสไฟฟ้าแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนมากว่า 70 ปีก่อนที่ Jules Verne จะเขียนถึงมันในปี 1874 เสียอีก วิธีผลิตไฮโดรเจนก็คือ การใช้ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินเผาไหม้ในอากาศและไอน้ำ ซึ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1000 องศาเซนติเกรด ดังสมการ methane + steam = carbon dioxide + hydrogen อีกวิธีหนึ่งได้แก่ การใช้กระแสไฟฟ้าผ่านโลหะในน้ำจะได้ไฮโดรเจนที่ขั้วลบ ซึ่งนำมาใช้ในการผลิต ปุ๋ยเคมี

เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ต้นทุน ในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนย่อมสูงขึ้นส่งผลให้โรงงานปุ๋ยในสหรัฐ หลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่วนการผลิตไฮโดรเจนจากกระแสไฟฟ้าก็ให้พลังงานเพียงร้อยละ 40 ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตจึงทำให้ไม่เหมาะสมที่จะผลิตมาใช้งาน นั่นหมายความว่า ปัญหาของพลังงานชนิดนี้ มี 2 ข้อใหญ่คือ 1)ไฮโดรเจนจะสามารถ แก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และ 2) การที่บริษัทจะผลิตรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนได้ก็ต่อเมื่อมีปั๊มเติมก๊าซชนิดนี้กระจายอยู่อย่างเพียงพอ และการที่จะมีปั๊มชนิดนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณ รถที่ต้องใช้ก๊าซชนิดนี้อย่างเพียงพอเช่นกัน นั่นจึงเท่ากับว่าปัญหาของรถและปั๊มเป็น เสมือนกับเรื่องไก่กับไข่ที่อะไรเกิดก่อนกันนั่นเอง

แม้ว่ามนุษย์จะสามารถทำให้ไฮโดรเจนกลายเป็นไฮโดรเจนเหลวได้ แต่ไฮโดรเจนเหลวจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ จึงต้องอยู่ ในฉนวนอย่างดี ฉนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังคงไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ก๊าซที่บรรจุอยู่ในถังจึงรั่วซึมออกมา การศึกษาพบว่าหากจอดรถที่ใช้พลังงาน จากก๊าซไฮโดรเจนเหลวทิ้งไว้ในโรงรถ 1 สัปดาห์ ก๊าซในถังจะระเบิดออกจน ทำความเสียหายให้กับโรงรถจนลามไปถึง เพื่อนบ้านเป็นบริเวณกว้าง ความหวังสำหรับการใช้ก๊าซชนิดนี้เป็น เชื้อเพลิงในอนาคต ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ ต้องหาตัวดูดซึมที่สามารถ ทำให้ไฮโดรเจนสามารถถูกปลดปล่อยออกมาโดยไม่จำเป็นที่จะต้องถูกเก็บ ด้วยความดันที่สูงและอุณหภูมิที่ต่ำให้ได้ เสียก่อน

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินแล้ว แต่สารพิษที่เกิดจากการผลิตยังคงเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หากการผลิตนี้ได้ผลและปลอดจากมลพิษ มันย่อมเป็นความหวัง ของประเทศอื่นๆ ด้วยเพราะปริมาณถ่านหิน ที่มีอยู่บนโลกน่าที่จะสามารถใช้ได้อีกนาน นับศตวรรษ

บทที่ 10 กล่าวถึงภาพรวมว่าแท้ที่จริงแล้ว น้ำมันไม่ใช่ทรัพยากรอย่างแรก บนโลกที่เริ่มมีลดลง แร่ธาตุแรกที่เริ่ม มีลดลงตั้งแต่ปี 1987 คือ แร่โซเดียมอะลูมินัมฟลูโอไรด์ แต่โชคดีที่แร่นี้สามารถสังเคราะห์ได้โดยง่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ผู้คนไม่เชื่อว่าการขาดแคลนพลังงานกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่เพราะ พวกเขามักได้ยินข้อโต้แย้งจากนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มอยู่เสมอ เช่น ปริมาณการผลิตน้ำมันยังคงต้องใช้เวลา อีกหลายสิบปี จึงจะขึ้นถึงจุดสูงสุด หรือในปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริการ้อยละ 92 อยู่ในสาขาบริการ การขาดแคลนน้ำมันจึงไม่น่าที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของเขา แต่แท้ที่จริงแล้วเงินที่สหรัฐ ได้รับจากการขายบริการนั้นต้อง นำมาใช้แลกกับน้ำมันของคนอื่น สหรัฐใช้น้ำมันมากถึงร้อยละ 25 ของน้ำมันที่มีอยู่ บนโลก ผลกระทบต่อสหรัฐ จึงน่าที่จะ เกิดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน

ส่วนการใช้แอลกอฮอล์เป็นพลังงานทดแทนอาจไม่คุ้มค่านอกจากจะได้รับ การสนับสนุนจากรัฐเพราะปริมาณพลังงาน จากการเผาไหม้ที่ได้จากแอลกอฮอล์ซึ่ง ผลิตจากข้าวโพดน้อยกว่าปริมาณพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ และไม่ว่าปริมาณ การผลิตน้ำมันจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ปี 2003 หรือ 2005 ก็ไม่มีความหมายเพราะมันคง ไม่แตกต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า การลดลงของปริมาณทรัพยากรบนโลก คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ วิธีการรับมือของรัฐในระดับนโยบายน่า ที่จะเป็น 1) ควบคุมจำนวนประชากรโลก การผลิตน้ำมันต่อหัวคนขึ้นถึงจุดสูงสุด ไปแล้วตั้งแต่ปี 1979 หลังจากนั้นมา จำนวนประชากรโลกกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณการผลิตน้ำมัน เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่มนุษย์เราควรทำคือ ควบคุมจำนวนประชากรให้สมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่ 2) เพิ่มราคาพลังงาน ให้สูงขึ้น เมื่อความต้องการน้ำมันเพิ่มมากกว่าความสามารถ ในการผลิตย่อมทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือ การปรับตัวของราคาสู่ดุลยภาพใหม่ 3) เพิ่มการใช้รถดีเซลที่มีประสิทธิภาพสูง 4) เพิ่มการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5) ตั้งโรงงานที่มีผลผลิตหรือผลพลอยได้ที่สามารถนำมาใช้คู่กัน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้กับแหล่ง ผลิตน้ำมันซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก โรงไฟฟ้าจะได้นำมาใช้ในการผลิตน้ำมัน หรือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อให้พลังงานความร้อนและกระบวนการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในอิเล็กทรอไลต์ของไฮโดรเจน ในกระบวนการผลิตน้ำมันหนัก จากทรายมะตอย

ส่วนประชากรโลกแต่ละคนอาจ ร่วมมือกันแก้ปัญหาได้โดยเตรียมเงินไว้ซื้อ รถไฮบริดซึ่งใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ พยายามหาบ้านใกล้ที่ทำงาน รับประทานอาหารท้องถิ่นและตามฤดูกาล ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้หลอดไฟฟ้าประหยัดไฟ พยายามใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด ใช้หลังคากันความร้อน และหันมาใช้ จักรยานแทนรถยนต์ ฯลฯ

ข้อคิดเห็น - หนังสือเล่มนี้หนักไป ทางวิทยาศาสตร์จึงอาจจะอ่านค่อนข้างยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ สูตรเคมี กราฟและสมการ มากนัก แต่อย่างน้อยมันก็ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของน้ำมันอย่างละเอียดลออ อีกทั้ง ยังทำให้ผู้อ่านทราบว่า นับจากนี้เป็นต้นไปมนุษย์เราคงมีโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ ที่จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกๆ อย่างที่ได้มีโอกาส ใช้ในศตวรรษที่แล้ว ทั้งนี้เพราะโอกาส ที่จะนำน้ำมันจากแหล่งอื่นที่มิใช่แหล่งที่ใช้กันในปัจจุบันมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีน้อย นอกจากนั้นมันอาจทำให้ผู้อ่านหวนกลับมาคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรคิดหาทางชะลอการใช้น้ำมันเพื่อป้องกันมิให้มันหมด ไปจากโลกเสียก่อนที่ลูกหลานจะได้มีโอกาสใช้บ้าง

หน้า 50