thaiall logomy background
การรักษาพยาบาลโรค thairheumatology87
my town
โรคภัยไข้เจ็บ | การปฐมพยาบาล | อาหารที่ต้องพึงระวัง | ผู้สูงอายุ
?>
♥ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินคือโรคที่มีการอักเสบของข้อร่วมกับผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงิน จัดเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบ (spondyloarthropathy) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีอาการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังและข้อส่วนรยางค์ของร่างกาย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีข้ออักเสบร่วมกับโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคผิวหนังสะเก็ดเงินอาจจะมีหรือไม่มีข้ออักเสบก็ได้ และในบางครั้งผู้ป่วยโรคผิวหนังสะเก็ดเงินที่มีข้ออักเสบก็อาจจะเป็นโรคข้ออักเสบชนิดอื่นที่ไม่ใช่โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินก็ได้
ลักษณะผื่นผิวหนังของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินมีได้หลายรูปแบบ แต่ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ เหตุที่เรียกโรคนี้ว่า “โรคสะเก็ดเงิน” เพราะลักษณะของผื่นในโรคนี้จะเป็นปื้นหรือตุ่มสีแดง ขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้หลุดลอกออกจากผิวหนังจะเห็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็นก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติที่เล็บ เช่น ผิวของเล็บไม่เรียบ เห็นเป็นหลุมเล็กๆ เล็บผิดรูปขรุขระ เล็บหนามีขุยขาวใต้เล็บ หรือเล็บล่อนจากพื้นเล็บ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บที่ข้อ และไม่สามารถใช้ข้อได้ตามปกติ อาจมีข้อขัดตึงในตอนเช้าหรือตลอดทั้งวัน ตำแหน่งของข้ออักเสบพบได้ในเกือบทุกข้อทั่วร่างกาย เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ข้อกระดูกสันหลัง และข้อกระดูกเชิงกราน นอกจากนี้ยังพบการอักเสบของกระดูกในตำแหน่งที่เป็นจุดเกาะของเอ็นต่างๆ เช่น การอักเสบของกระดูกส้นเท้าเนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นร้อยหวายและเอ็นฝ่าเท้า เป็นต้น

สาเหตุของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินคืออะไร

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่สันนิษฐานว่ามาจากหลายๆปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติ เนื่องจากร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย ร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายเช่น เชื้อโรค ได้เข้ามากระตุ้นให้เกิดโรคนี้ขึ้น โรคนี้จึงไม่ใช่โรคติดเชื้อและไม่ติดต่อไปยังบุคคลอื่น เพียงแต่การติดเชื้ออาจสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เกิดมีการกำเริบของโรคในบางครั้งได้เท่านั้น

ใครมีโอกาสเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินบ้าง

มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินในประเทศไทยประมาณ 60,000 คน โดยมีอัตราส่วนของผู้ป่วยชายและหญิงใกล้เคียงกัน และช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 35 - 55 ปี
ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินจะเกิดโรคผิวหนังก่อนอาการข้ออักเสบ ส่วนใหญ่ของผื่นผิวหนังจะปรากฏกระจัดกระจายตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในร่มผ้า แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นผิวหนังเพียงเล็กน้อยในตำแหน่งที่หลบซ่อนก่อนเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่ได้สังเกตหรือไม่ทันคิดว่าผื่นผิวหนังนี้จะมีความสัมพันธ์กับข้ออักเสบที่เป็นอยู่ เช่น ผื่นใต้เส้นผม สะดือ หรือร่องก้น เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย เช่น ผิวของเล็บขรุขระเป็นหลุมเล็กๆ เล็บผิดรูป เล็บหนามีขุยขาวใต้เล็บ หรือเล็บล่อนจากพื้นเล็บ ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะเกิดข้ออักเสบก่อนผื่นผิวหนัง และที่เหลืออีกร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะเกิดข้ออักเสบและผื่นผิวหนังขึ้นพร้อมๆ กัน

แพทย์จะวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้อย่างไร

การวินิจฉัยโรคนี้จะอาศัยประวัติครอบครัว อาการผื่นผิวหนัง และอาการข้ออักเสบของท่าน ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือดใดๆ ที่ช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างแน่นอน แต่แพทย์ของท่านอาจขอให้ท่านตรวจเลือดหรือถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคกับโรคอื่นๆ และช่วยในการวางแผนการรักษาในอนาคต
ลักษณะการอักเสบของข้อมีความหลากหลายแต่ก็มีความจำเพาะต่อโรค สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบ คือ
  • การอักเสบของข้อจำนวน 2 - 4 ข้อแบบไม่สมมาตรคือ มีตำแหน่งของข้ออักเสบทางด้านขวาและทางด้านซ้ายไม่เหมือนกัน เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดคือร้อยละ 35 - 50 ข้ออักเสบที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าร่วมกับการอักเสบเอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นที่อยู่รอบข้อจะทำให้ลำนิ้วนั้นบวมแดงมีลักษณะคล้ายไส้กรอก
  • การอักเสบหลายข้อแบบสมมาตร ลักษณะคล้ายอาการทางข้อของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พบได้ประมาณร้อยละ 25
  • การอักเสบของข้อปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า พบได้ประมาณร้อยละ 5 - 10การอักเสบรูปแบบนี้มักจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย
  • การอักเสบอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดการผิดรูปของข้อโดยเฉพาะข้อนิ้วมือ พบได้ประมาณร้อยละ 5
  • การอักเสบของข้อกระดูกสันหลังและข้อกระดูกเชิงกราน พบได้ประมาณร้อยละ5 ชนิดนี้พบบ่อยในเพศชายมากกว่าหญิง และอาจเกิดร่วมกับรูปแบบอื่นๆ ข้างต้น

โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินมีวิธีการรักษาอย่างไร
โดยทั่วไปโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินจะมีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรงเหมือนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการกำเริบของโรคเป็นระยะๆ สลับกับช่วงที่โรคสงบ อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงจนเกิดความพิการได้ ผู้ป่วยเหล่านี้ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีสารพันธุกรรมบางชนิดเช่น HLA-DR3 มีข้ออักเสบหลายข้อร่วมกับมีการทำลายข้อเกิดขึ้น และมีผื่นผิวหนังสะเก็ดเงินที่รุนแรง ดังนั้นผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าวจึงควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ
ยาที่ใช้รักษาโรคนี้มี 2 กลุ่มคือ
1. กลุ่มยาที่บรรเทาได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบและเจ็บปวดที่ข้อ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สารเสตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) และยาทาเฉพาะที่เพื่อรักษาผื่นผิวหนังสะเก็ดเงิน เช่น ยาทาเสตียรอยด์ เป็นต้น
2. กลุ่มยาที่สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคซึ่งจะช่วยให้โรคสงบได้ ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงแพทย์จะพิจารณาใช้ยาในกลุ่มนี้ซึ่งได้แก่ ยาเม็ทโธเทรกเซท (methotrexate) , ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) , ยาไซโคลสปอริน (cyclosporin) , และยาเอซาไธโอปรีน (azathioprine) ในระยะหลังได้มีการนำยาใหม่ๆ มาใช้รักษาโรคนี้ เช่น ยาเลฟฟลูโนไมด์ (leflunomide) , และกลุ่มยาชีวภาพออกฤทธิ์ต้านสารทีเอ็นเอฟ (anti-TNF agents) อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูงและยังมีผลข้างเคียงที่สำคัญหลายอย่าง การใช้ยาดังกล่าวจึงควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาและจะต้องมีการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ท่านจะดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

การอักเสบของข้อจนกระทั่งไม่สามารถใช้งานได้จะส่งผลให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อในที่สุด ดังนั้นการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้อย่างไม่ติดขัด
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ถ้าท่านมีการอักเสบของข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า ท่านควรใช้เครื่องช่วยเดิน เช่นไม้เท้าหรือรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่มากเกินไป ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องได้ การขี่จักรยาน การว่ายน้ำหรือออกกำลังกายในน้ำ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ท่านเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นและสามารถหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่มากเกินไป

ข้อควรจำ
  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการกำเริบของโรคเป็นระยะๆ สลับกับช่วงที่โรคสงบ แต่ผู้ป่วยบางคนอาจมีการดำเนินโรคที่รุนแรงจนเกิดความพิการได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
  • การรักษาที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ท่านไม่ปวดข้อ ไม่เกิดความพิการ และสามารถใช้ข้อได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังสะเก็ดเงินที่มีข้ออักเสบก็อาจจะเป็นโรคข้ออักเสบชนิดอื่นได้เช่น โรคเก๊าท์ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเสมอไป ท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้อง
ข้อมูลจาก : http://www.thairheumatology.org/people01.php?id=87
ข้อมูลนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น
ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป
tools
ความหมายของสุขภาพ
Health Meaning
สุขภาพ เป็นการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ 1) ร่างกาย 2) จิตใจ 3) สังคม และ 4) วิญญาณ (ปัญญา) หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็เรียกว่า สุขภาวะ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ สุขภาพที่ดีมีส่วนทำให้ชีวิตของเรามีความสุข
สุขภาพ หมายถึง ระดับของประสิทธิภาพเชิงการทำงาน หรือเชิงเมตาบอลิกของสิ่งมีชีวิต และตามนิยามขององค์การอนามัยโลก หมายถึง สภาวะอันสมบูรณ์ของภาวะทางกาย จิต จิตวิญญาณ และสังคมของบุคคล อันมิได้หมายถึง ความปราศจากโรคหรือความบกพร่องเพียงอย่างเดียว (wiki)
Thaiall Products :: HTML Validity :: CSS Validity :: CheckLink :: DeadLink :: PageSpeed :: Keyword Position :: Google :: Truehits
Thaiall.com