แก้วน้ำแห่งความสุข

แก้วน้ำแห่งความสุข
แก้วน้ำแห่งความสุข

ลูกสาว ม.1 นำบทความในกระดาษมาให้อ่าน
เพราะครูให้สรุปมาสั้น ๆ ว่า เขาพูดถึงอะไร
ผมก็ให้ลูกอ่านให้ฟัง แล้วก็ชอบครับ
.. เห็นความคิดของมนุษย์อีกแบบหนึ่ง

จึงนำเนื้อหามาแบ่งปันต่อครับ
ถ้ามีโอกาสก็จะไปหาหนังสือ ความหวัง ไม่เห็น ไม่ใช่ ไม่มี มาอ่านสักหน่อย

จิตร์ ตัณฑเสถียร มือเก๋าของแวดวงโฆษณาพูดเรื่อง “การยึดมั่นถือมั่น

เขายกตัวอย่างเรื่อง “แก้ว”
แก้วที่ว่างเปล่านั้น  เมื่อใส่น้ำ มันก็เป็น “แก้วน้ำ”
แต่ถ้าเราเอาดอกไม้ปักลงไป มันก็จะเป็น “แจกัน”
และถ้าแก้วใบนั้นใหญ่หน่อย เราเติมน้ำและใส่ “ปลา” ลงไป
“แก้วน้ำ” ก็จะกลายเป็น “ตู้ปลา”
และหากเราคว่ำ “แก้วน้ำ” เอาดินสอขีดรอบแก้ว
“แก้วน้ำ” จะกลายเป็น “วงเวียน”

“จิตร์” บอกว่าคนเราอย่ายึดมั่นถือมั่น
อย่าคิดว่า “แก้วน้ำ” ต้องเป็น “แก้วน้ำ” ตลอดไป
ครับ ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง
มันแปรเปลี่ยนตาม “ตัวแปร” ต่างๆ
เรานำไปใช้งานอย่างไร มันก็เป็นเช่นนั้น

“ชีวิต” ก็เช่นกัน
เหมือนนักเรียนที่เชื่อว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือทั้งหมดของชีวิต
ถ้าสอบไม่ติดก็เสียใจ และรู้สึกว่าชีวิตสิ้นหวัง
หรือถ้าสอบเข้าคณะที่คนคิดว่า “ดี” ก็จะคิดว่าชีวิตนับต่อจากนี้ต้องรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

สมัยก่อน “ด่าน” วัดความสำเร็จของชีวิตจะอยู่ที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แต่ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองเพิ่ม “ด่าน” มากขึ้น
เริ่มต้นจากระดับ “โรงเรียน”
ถ้าเข้าโรงเรียนนี้ได้ต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
จากนั้นก็ขยับเป็นทอดๆ จนถึง “มหาวิทยาลัย”
ใช้ “โรงเรียน” หรือ “มหาวิทยาลัย” เป็นดัชนีวัดความสำเร็จ
คิดแบบ “หยุดนิ่ง” ว่าเมื่อเข้าคณะดีๆ มหาวิทยาลัยดังๆไปแล้ว
ชีวิตก็ต้อง “ดี” แบบนี้ตลอดไป
เป็น “แก้วน้ำ” ก็เป็น “แก้วน้ำ” ตลอดไป

นั่นคือเหตุผลที่เด็กวันนี้ต้องใช้เวลากับการ “เรียนพิเศษ” มากกว่าในห้องเรียนปกติ
ไม่มีเวลาเล่นกับชีวิตเลย
ผมไม่เคย “เรียนพิเศษ”
ดังนั้น ทุกครั้งที่เห็นเด็กเรียนพิเศษแบบหามรุ่งหามค่ำ ผมจะรู้สึกสงสารและเสียดาย
“สงสาร” เด็กที่ต้องเรียนหนัก
“เสียดาย” โอกาสสำหรับความสุขนอกห้องเรียนในวัยเด็ก

ขออนุญาตเล่าชีวิตวัยเด็กของผมให้เด็กรุ่นใหม่อิจฉาสักหน่อย
ตอนเรียนอยู่ที่เมืองจันท์ ผมใช้ชีวิตอยู่กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ๑๐-๑๒ ชั่วโมงต่อวัน
ค่าเทอมที่พ่อแม่จ่ายไปคุ้มค่าจริงๆ
ไปเรียนตอนเช้า เรียนเสร็จเดินกลับบ้าน
เปลี่ยนชุดเสร็จก็วิ่งกลับไปโรงเรียนอีก
ไม่ได้ไป “เรียน” แต่ไป “เล่น” ครับ

ตอนเช้าใช้ห้องเรียนของโรงเรียน แต่ตอนเย็นใช้สนามกีฬา
ถ้าไม่เล่นวอลเลย์บอล ก็เล่นฟุตบอล
ใช้แสงอาทิตย์เป็น “นาฬิกาปลุก”
หมดแสงเมื่อไรก็หมดแรงเมื่อนั้น

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่ไปสวนกับ “ป๋า” หรือ “แม่” ก็จะแวะไปบ้านเพื่อน
ฮาเฮกันตลอด
ปิดเทอมก็เล่นฟุตบอล วอลเลย์บอล เข้าสวน ไปห้องสมุดประชาชน หรือหานิยายอ่าน หรือไม่ก็ไปบ้านเพื่อน
ไม่เคยเรียนพิเศษเลย
จนช่วงหนึ่งที่บ้านมีปัญหาทางการเงิน แม่ต้องเปิดแผง ขายสาคูไส้หมูและขนมใส่ไส้หารายได้เพิ่ม
ช่วงนั้นจึงเริ่มทำตัวมีประโยชน์
ช่วยทำขนมและเปลี่ยนผลัดกับแม่ไปนั่งขายที่หน้าแผงตอนค่ำ
แต่ก็ยังเล่นกีฬาตลอด
จนอีก ๑ ปีก่อนเอ็นทรานซ์ ชีวิตผมจึงเปลี่ยนไป
ลุยอ่านหนังสือเต็มที่ก่อนสอบ

ครับ ในขณะที่เด็กวันนี้ใช้เวลาเรียนพิเศษตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้น ม.๖
ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี
แต่ผมใช้เวลาลุยอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแค่ปีเดียว
ที่เหลือ “เล่น”
น่าอิจฉาไหมครับ
ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มัก “ยึดมั่นถือมั่น” ว่า “โรงเรียน” หรือ“มหาวิทยาลัย” เป็น “ด่าน” วัดความสำเร็จ
ลืมไปว่าชีวิตไม่ใช่ “เกมโชว์”
ผ่านด่านนี้ไปก็ชนะในเกมเลย
ชอบคิดแบบ “หยุดนิ่ง”
เช่นเดียวกับ “เกรด” ในใบปริญญา
นิสิตนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเลขของ “เกรด” มีค่าเพียงแค่ใช้ในการสมัครงาน
พ้นจากวันนั้น “เกรด” ก็เป็นแค่ “ตัวเลข” ในใบปริญญา
ไม่มีใครสนใจ
เพราะเมื่อเริ่มทำงานจริง คุณค่าของเราจะอยู่ที่การทำงาน
ใครทำงานเก่งกว่ากัน
ใครทำงานกับคนได้ดีกว่ากัน ฯลฯ
หัวหน้างานไม่สนใจแล้วว่าใครเรียนจบมาด้วยเกรดเท่าไร

ที่สำคัญ  ชีวิตของเราไม่ใช่ “เส้นตรง”
แต่เป็น “ทางแยก” ที่ต้องเลือกเสมอ
ดุลพินิจในการใช้ชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะ “ชีวิต” ก็เหมือน “แก้วน้ำ” ครับ
มันแปรเปลี่ยนไปเสมอ ไม่เคยหยุดนิ่ง

“แก้วน้ำ” จะเป็นอะไร
ขึ้นอยู่กับ “การใช้งาน”
“ชีวิต” ก็เช่นกัน
จะเป็นอะไร
ก็ขึ้นอยู่กับ “การใช้ชีวิต”
ที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่าทุกช่วงเวลาของชีวิตมีค่าเท่าเทียมกัน

ถ้าคนเรามีอายุ ๗๐ ปี
๑๐ ปี ก็คือ ๑ ใน ๗ ของชีวิต
๑๐ ปีในวัยเด็กก็มีค่าเท่ากับ ๑๐ ปีในวัยหนุ่มสาว
หรือ ๑๐ ปีในช่วงท้ายของชีวิต
ไม่มีช่วงเวลาใดมีค่ามากกว่ากัน
ดังนั้น ใครสะสมห้วงเวลาแห่งความสุขได้มากกว่ากัน
คนนั้นถือว่า “โชคดี”
เวลาของ “ความสุข” ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ “วันพรุ่งนี้”
แต่เป็น “วันนี้”

http://www.se-ed.com/eShop/Products/Detail.aspx?CategoryId=0&No=9789740208495
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321953970