ชะตากรรมต้นไม้ใต้สายไฟฟ้า กับการหยุดปลูกต้นไม้ใต้สายไฟฟ้า (itinlife 477)

ชะตากรรมต้นไม้ใต้สายไฟฟ้า
ชะตากรรมต้นไม้ใต้สายไฟฟ้า
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นต้นไม้กับสายไฟฟ้าอยู่ร่วมกันใกล้ชิด เคยมีข่าวว่าเถาฟักไปออกลูกบนเสาไฟ ต้นไม้ตามถนนหนทางเกาะเกี่ยวสายไฟจนมองไม่ออก เพราะสายไฟผ่านเข้าด้านหนึ่ง และออกมาอีกด้านหนึ่งของต้นไม้ เป็นที่รู้กันว่าสายไฟฟ้ามีสัญญาณไฟฟ้าไหลอยู่ หากรั่วขึ้นมาแล้วมนุษย์ไปสัมผัสก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต การที่ต้นไม้เติบโตขึ้นเองใกล้กับเสาไฟฟ้าถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือ การตั้งใจปลูกต้นไม้ใต้สายไฟฟ้า ซึ่งพบเห็นได้เป็นปกติในประเทศไทย
เมื่อฝนตกแล้วไฟฟ้าดับ เชื่อว่าคนไทยนอกเมืองหลวงเคยพบกันมาแล้วทุกคน สาเหตุหนึ่งมาจากต้นไม้ทั้งประเภทที่ขึ้นใต้สายไฟฟ้า หรือขึ้นขนานกับสายไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขโดยการลิดรอนตัดไม้และกิ่งไม้อยู่เสมอ แต่ถ้าป้องกันปัญหาแต่แรกด้วยการหยุดปลูกต้นไม้ใต้สายไฟฟ้าตามถนนหนทาง ก็เชื่อได้ว่าปัญหาจะลดลง ไม่ต้องเสียงบประมาณหาต้นไม้มาปลูก และต้องหาคนมาตัดกิ่งไม้ และต้องหาคนมาคอยแก้ปัญหาสายไฟฟ้าพันกับกิ่งไม้ สายโทรศัพท์พันกับกิ่งไม้ การที่อินเทอร์เน็ตในบางบ้านมีปัญหา ก็เชื่อได้ว่าสายโทรศัพท์อาจผูกพันธ์กับกิ่งไม้มากไปจนสัญญาณอาจสูญหายไปบ้าง
กิ่งไม้ไม่อยากจากสายโทรศัพท์
กิ่งไม้ไม่อยากจากสายโทรศัพท์
เคยอ่านผลการวิจัยเรื่อง วิเคราะห์สาเหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้องของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยคุณวสันต์ เรืองศรี ศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2548 – 2552 พบว่าสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าขัดข้องเกิดจากต้นไม้เป็นอันดับ 4 เกิดขึ้นมากถึง 186 ครั้ง ในพื้นที่อื่นที่ปลูกต้นไม้ใต้สายไฟฟ้ากันมากก็อาจมีสถิติของปัญหามากกว่าที่ปทุมธานีก็ได้ สรุปสาเหตุเกี่ยวกับต้นไม้ที่ส่งผลให้ไฟฟ้าดับ คือ การตัดต้นไม้ใกล้แนวสายไฟฟ้า การเผาวัชพืชใกล้สายไฟฟ้า ต้นไม้ล้มทับสายไฟฟ้า กิ่งไม้พาดสายไฟทำให้ไฟฟ้ารั่วลงดิน นอกจากสายไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบแล้ว ก็ยังมีสายโทรศัพท์ สายเคเบิ้ลทีวี ส่วนต้นไม้ก็ได้รับผลกระทบเพราะเคยเห็นต้นไม้กำลังโต แต่ก็ต้องมาถูกตัด เพื่อไม่ให้ไปพันสายไฟ ถ้าใช้งบประมาณส่วนนี้ไปปลูกต้นไม้ที่อื่นแล้วปล่อยให้เติบใหญ่งอกงามเป็นเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนก็จะดีไม่น้อย สรุปว่าเสียดายต้นไม้ที่ต้องถูกตัดไม่ให้สูงไปกว่าสายไฟฟ้า

ห้องเครื่องคือเขตอันตราย (itinlife298)

power
power

จากภาพยนตร์เรื่อง Erin Brockovich ที่ฉายในปี พ.ศ.2543 นำเสนอเรื่องราวที่ชวนให้ตระหนึกถึงความน่าสะพรึงกลัวของพลังงานไฟฟ้า ผลพวงของการผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียง ส่วนจอภาพคอมพิวเตอร์แบบ CRT จะส่งคลื่นแม่เหล็กออกมีผลต่อการเป็นหมัน มะเร็ง และเนื้องอกได้ ทำให้มีการพัฒนาจอภาพแบบ LCD และ LED ที่มีคลื่นแม่เหล็กลดลงมาก อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้ไฟฟ้าจะเกี่ยวข้องกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ยิ่งใช้กำลังไฟฟ้ามากก็ยิ่งมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาก และยิ่งมีจำนวนชิ้นของอุปกรณ์ไฟฟ้ารวมอยู่ในที่เดียวจำนวนมาก ก็ยิ่งยากต่อการควบคุมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สูงเป็นเงาตามตัว ความไม่กลัวหรือไม่ตระหนักต่อพลังแฝงที่มองไม่เห็นอาจส่งผลต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง

ห้องเครื่องบริการคอมพิวเตอร์ (Server Farm หรือ Server Room) เป็นสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และสายไฟจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าห้องอื่น มักเป็นห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงมีอุณหภูมิที่อยู่เกณฑ์ที่ยอมรับได้ ในการออกแบบห้องจะมี 2 แบบ คือ ให้เป็นเพียงห้องเก็บเครื่องบริการที่แยกส่วนจากห้องทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือ ให้มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในห้องเครื่องบริการเพื่อคอยเฝ้าตรวจปัญหาทางจอภาพ หรืออุปกรณ์แจ้งเตือน ถ้ามีเจ้าหน้าที่นั่งประจำมักมีเหตุผลจากความจำเป็นที่ต้องเฝ้าตรวจปัญหาที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ หากเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขในทันที อาทิ ชุมสายโทรศัพท์ ชุมสายไฟฟ้า ชุมทางรถไฟฟ้า เป็นต้น

การออกแบบห้องต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เพราะห้องเครื่องบริการเป็นพื้นที่อันตรายที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสูงอยู่ตลอดเวลา การเข้าไปทำงานชั่วคราวอาจเกิดขึ้นได้ และไม่ส่งผลมากนัก ถ้าต้องใช้ชีวิตในห้องดังกล่าวนานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะมีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ประจำการรู้ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในระยะยาวหรือไม่ และมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีระบบที่เรียกว่าการควบคุมระยะไกล (Remote Control) ทำให้ไม่ต้องเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่อันตราย แต่สามารถทำงานได้จากระยะไกลในพื้นที่ที่ปลอดภัย ถ้ามีเจ้าหน้าที่ไปอยู่ในนั้นได้มีมาตรการป้องกันอย่างไร ผู้เขียนเสนอว่าตระหนักไว้ไม่เสียหาย เป็นการบริหารความเสี่ยง เพราะกันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน