4 เหตุผล ควรทานไข่

4  เหตุผล ควรทานไข่

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

1. ไข่ 1 ฟองมีคอเลสเตอรอลมากถึง 210 มิลลิกรัมก็จริง แต่ผลวิจัยพบว่า คนที่กินไข่สัปดาห์ละ 4 ฟองมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าคนที่กินไข่สัปดาห์ละ 1 ฟองหรือไม่กินไข่เลย

กลไกที่อาจเป็นไปได้คือ ไข่มีโปรตีนสูงและมีไขมันอิ่มตัวค่อนข้างต่ำ ทำให้อิ่มนาน และความอิ่มนี่เองมีส่วนทำให้กินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อ อาหารประเภท “ผัดๆ ทอดๆ” ฯลฯ ลดลง

ผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้คอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูงคือ ไขมันอิ่มตัว เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู การกินเนื้อมากเกิน (เนื้อที่เห็นเป็นเนื้อแดงก็มีไขมันแฝงอยู่มาก) ฯลฯ และที่ร้ายที่สุดคือ ไขมันทรานส์หรือไขมันแปรสภาพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการนำไขมันพืชไปเติมไฮโดรเจน ทำให้เกิดเป็นเนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม (คอฟฟี่เมต) ที่ใช้ทำเบเกอรี ขนมกรุบกรอบ อาหารฟาสต์ฟูด

แนวทางในการลดคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดหลักคือ การลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ รองลงไปคือ การออกแรง-ออกกำลังให้มากพอเป็นประจำ และการกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลให้น้อยลง

2. ไข่มีโคลีนสูงถึง 30% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน ซึ่งโคลีนเป็นสารประกอบที่ช่วยเสริมความจำให้ดีขึ้น และยังป้องกันเส้นเลือดอุดตันได้อีกด้วย

ไข่ 1 ฟองให้โคลีนมากประมาณ 30% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน การกินไข่จึงเปรียบคล้ายการซื้อ “ประกันชีวิต” ในเรื่องอาหารคุณค่าสูงว่า โอกาสขาดสารอาหารจะลดลงไปมากมาย

โคลีน (choline) เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะผนังเซลล์ของสมองและเซลล์ประสาท เป็นองค์ประกอบของสารสื่อประสาทที่สมองใช้ในการสื่อสารภายใน (คล้ายๆ จุดเชื่อมหรือ router ของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต) คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งของโคลีนคือ มันออกฤทธิ์ต้าน (ลด) การอักเสบ หรือป้องกันไม่ให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบได้ในระดับหนึ่ง

การอักเสบนี้มีผลมากเป็นพิเศษที่ผนังหลอดเลือด เนื่องจากผนังหลอดเลือดที่มีการอักเสบจะบวม และสูญเสียความ “เรียบลื่น (ปกติจะลื่นคล้ายๆ กระทะเคลือบเทฟลอน)” ทำให้คราบไขมันไปพอก หรือเกล็ดเลือดไปเกาะกลุ่มได้ง่าย

3. ไข่แดงช่วยบำรุงสายตา เพราะมีสารลูทีน-ซีแซนทีน ทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคตาเสื่อมสภาพ หรือตาบอดในคนสูงอายุลดลง

ลูทีน-ซีแซนทีนเป็นสารพฤกษเคมีหรือสารคุณค่าพืชผักกลุ่ม “สีเหลือง-แสด” ช่วยปัองกันจอรับภาพ (retina / เรทินา) โดยทำหน้าที่เป็นตัวกรอง (คล้ายๆ กับเป็นแว่นกันแดดชั้นดี) แสงสีน้ำเงินหรือฟ้า และรังสี UV (อัลตราไวโอเลต / ultraviolet) ทำให้ความเสี่ยง (โอกาสเป็น) โรคตาเสื่อมสภาพ หรือตาบอดในคนสูงอายุ(age-related macular degeneration / ARMD) ลดลง

แน่นอนว่า การหลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า แสงไฟจ้า หรือการอยู่หน้าจอ TV, จอคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นการดีที่สุด ทว่า ถ้าจำเป็นต้องทำงานกลางแดด ชมโทรทัศน์ หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละนานๆ การพักสายตาอย่างน้อยทุกๆ 1-2 ชั่วโมง และการกินอาหารที่มีลูทีน-ซีแซนทีนสูง เช่น ผักใบเขียว (เช่น บรอคโคลี ฯลฯ) ถั่วที่มีสีเขียว ข้าวโพด ฯลฯ ก็ช่วยได้มาก

4. ไข่ช่วยลดความอ้วน เนื่องจากมีโปรตีนสูง ทำให้อิ่มนาน

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่กินไข่เป็นอาหารเช้ามีโอกาสลดน้ำหนักและเส้นรอบเอวสำเร็จมากกว่าคนที่กินขนมปังเป็นอาหารเช้า กลไกที่อาจเป็นไปได้คือ ไข่มีโปรตีนคุณภาพสูง ทำให้อิ่มนาน และอย่าลืมว่า ไม่ใช่กินอาหารเท่าเดิมแล้วเสริมไข่เข้าไป แต่ต้องใช้หลัก “อาหารทดแทน” ด้วย คือ กินไข่เข้าไป แล้วลดอาหารอย่างอื่นให้น้อยลงจึงจะได้ผล

เคล็ดไม่ลับในการกินไข่

1. กินพอประมาณ
คนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีความเสี่ยงต่อโรคสูง กินไข่ได้วันละ 1 ฟอง คนที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นโรคโคเลสเตอรอลสูง ฯลฯ ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนกินไข่

2. เวลาซื้อต้องหมุนไข่ อย่าซื้อไข่ที่มีรูทะลุหรือรอยแตก

3. เก็บไข่ในตู้เย็นจะเก็บไข่ได้นานขึ้น
ส่วนประตูตู้เย็นมักจะเย็นน้อยกว่าส่วนกลางตู้เย็น

4. ฟอกไข่ด้วยฟองน้ำล้างจานกับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน
ล้างมือหลังหยิบจับเปลือกไข่ดิบทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคท้องเสียติดไปกับเปลือกไข่ได้ จากสถิติของสหรัฐฯ พบว่า โอกาสพบเชื้อท้องเสีย (salmonella) ในไข่มีประมาณ 1 ใน 30,000 ฟอง

5. กินไข่สุก อย่ากินไข่ดิบ
ไข่ดิบ เช่น ไข่ลวก ฯลฯ มีโปรตีน (avidin) ที่จับวิตามิน B ที่ชื่อ ไบโอทิน (biotin) ทำให้การดูดซึมลดลง และควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจมีไข่ดิบผสมอยู่ เช่น ไอศกรีมทำเอง (home-made = ทำที่บ้าน นอกโรงงาน) น้ำสลัดซีซาร์ ฯลฯ นอกจากนั้น เวลาทำขนมหรือคุกกี้ใส่ไข่ดิบ ไม่ควรชิมในช่วงที่ขนมหรือคุกกี้ยังไม่สุก

—————
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และอาจารย์กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหารตีพิมพ์เรื่อง “เมนูไข่…ไข่…ไข่…”

กายภาพมือง่ายๆ ก่อน “นิ้วล็อค” ถาวร

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ภาวะนิ้วล็อค เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีการใช้มือทำงานอย่างหนัก ซึ่งจะมักมีอาการเจ็บร่วมกับมีเสียงดังกึก ทำให้เส้นเอ็นไม่โก่งตัวออกเมื่องอนิ้ว แต่เมื่อมีการอักเสบเส้นเอ็นจะบวมและหนาตัว ทำให้ลอดผ่านห่วงลำบาก จึงรู้สึกเจ็บและเกิดอาการนิ้วล็อคตามมา

โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนทำงาน office อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน  หรือแม้แต่แม่บ้านที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก เช่น หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ชอปปิ้ง บิดผ้า ส่วนในผู้ชายมักพบในอาชีพที่ใช้มือทำงานหนักๆ มีการจับ ออกแรงบีบอุปกรณ์ซ้ำๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควงหรือเลื่อย พิมพ์งาน  นักกอล์ฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ลักษณะการใช้งานของมือในแต่ละกิจกรรมจะใช้งานแต่ละนิ้วไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดนิ้วล็อคที่ตำแหน่งนิ้วต่างกันด้วย เช่น พ่อแม่ที่เป็นครู หรือนักบริหาร มักเป็นนิ้วล็อคที่นิ้วโป้งขวา เพราะใช้เขียนหนังสือมาก และใช้นิ้วโป้งกดปากกานานๆ ขณะที่แม่บ้านซักบิดผ้า มักเป็นที่นิ้วชี้ซ้ายและขวา แต่ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้ ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

สำหรับอาการ ในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน พอใช้มือไปสักพักก็จะกำมือได้ดีขึ้น เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อค คือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้

กายภาพมือง่ายๆ ก่อน “นิ้วล็อค” ถาวร

1. ยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ โดยยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยทำ 6-10 ครั้ง/เซต

2. บริหารการกำ-แบมือ โดยฝึกกำ-แบ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้ โดยทำ 6-10 ครั้ง/เซต

3. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอ-เหยียดนิ้วมือ โดยใช้ยางยืดช่วยต้าน แล้วใช้นิ้วมือเหยียดอ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ ปล่อย ทำ 6-10 ครั้ง/เซต

ระวังตัวง่ายๆ  ลดเสี่ยง “นิ้วล็อค” ถาวร

1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ

2. ควร ใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งาน ขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ

3. งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง

4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น

5. ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อฝืดลดลง

——————————-ภาพประกอบจากอินเตอร์เนตขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3382:-qq-&catid=95:2009-09-05-15-01-03&Itemid=324

วิธีการฝึกคิดบวก

มนุษย์เราสามารถสร้างนิสัยคิดบวกได้พอๆ กับนิสัยคิดลบ แต่นิสัยคิดลบเกิดได้ง่ายกว่า เพราะต่างทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้น ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูนะคะ เพื่อสร้างนิสัยคิดในด้านดี และขจัดความคิดด้านร้ายให้หมดไป วิธีการฝึกคิดบวกนั้นไม่ยาก ลองดู 12 ขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ

1. ให้มองไปข้างหน้า อย่ามองย้อนหลัง ทุกคนเคยทำผิดมาแล้วทั้งนั้น แต่ต้องไม่จมอยู่กับอดีตที่ผิดพลาด เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป จงวางเป้าหมายเล็กๆที่เป็นไปได้ และพยายามทำให้สำเร็จ

2. รู้จักให้อภัยตัวเองและผู้อื่น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นผลพวงมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ในบางครั้งบางคราว เราต่างตัดสินใจผิดพลาด แต่เมื่อรู้สำนึกแล้ว ก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไป เรียกว่าเป็นการให้อภัย และต้องให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิดพลาด เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป รวมทั้งใช้ความผิดพลาดจากอดีตเป็นบทเรียน เพื่อก้าวย่างที่ดีกว่าในอนาคต

3. ถ้าแก้วมีน้ำแค่ครึ่งเดียว จงเติมให้เต็มแก้ว การมองว่า มีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว หรือน้ำหายไปครึ่งแก้วนั้น ถูกทั้ง 2 อย่าง อยู่ที่ว่าผู้มองเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือร้าย และไม่ผิดอะไรที่คุณจะเติมน้ำให้เต็มแก้ว

4. มองหาบุคคลต้นแบบ ทุกคนควรมีบุคคลต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจ คนคนนั้นอาจเป็นผู้ที่เอาชนะอุปสรรคใหญ่ๆได้สำเร็จ และประสบความสำเร็จอย่างงดงามในที่สุด หรือเป็นผู้ที่ทำงานหนักและสัมฤทธิ์ผล จงเอาคนนั้นเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

5. พาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงของคนที่ประสบความสำเร็จและมอง โลกในแง่ดี มันเป็นเรื่องมหัศจรรยู์ที่พลังอำนาจของคนอื่น สามารถส่งผลกระทบต่อพลังในตัวเราได้ คนที่คิดในด้านบวกจะช่วยกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถทำสิ่งที่มุ่งมั่นไว้ให้สำเร็จได้ จำไว้ว่า..จงอยู่ให้ห่างคนที่คิดแต่แง่ร้าย ซึ่งจะขัดขวางการเดินหน้าของคุณ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”

6. เห็นคุณค่าสิ่งดีๆในชีวิต เมื่อเราพอใจกับทุกเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม มันจะช่วยให้เราขจัดความคิดในด้านลบออกไป การโฟกัสแต่สิ่งดีๆเหล่านี้ จะทำให้อุปสรรคที่เราเผชิญอยู่ กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราจัดการได้ง่ายขึ้น

7. รู้จักบริหารเวลาอย่างชาญฉลาด อย่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณตั้งเป้าไว้ในชีวิต ข้อสำคัญคือ มุ่งทำในเรื่องที่ทำให้ชีวิตของคุณเป็นไปดังที่หวังไว้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณมีทัศนคติที่ดี

8. จินตนาการว่ามีสิ่งดีๆเกิดขึ้น แปลกแต่จริงที่ว่า คนส่วนมากมักชอบวาดภาพเรื่องเลวร้ายกำลังเกิดขึ้น โดยมักจะพูดว่า “ถ้ามันเกิดขึ้น…” จงฝึกนึกถึงเรื่องดีๆกำลังเกิดขึ้น มองเห็นภาพงานที่กำลังทำเดินไปด้วยดี (ไม่ว่าจะเป็นงานที่บ้านหรือที่ทำงาน) และได้รับคำชมจากคนรอบข้างว่า“เยี่ยมมาก” เพราะนั่นจะเป็นกำลังใจให้คุณคิดบวกต่อไป

9. ความผิดพลาดมีไว้ให้เรียนรู้ มิใช่แส้ที่เอาไว้เฆี่ยนตี ทุกคนล้วนเคยทำผิดทั้งนั้น และถึงแม้ว่าได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังทำพลาด ขอให้จำไว้ว่า ยังมีโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ ความผิดพลาดต่างๆที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข สิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต

10. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ถ้ารอบๆตัวเต็มไปด้วยข้าวของวางระเกะระกะ กระจัดกระจายไปทั่วห้อง ลองหาเวลาจัดเก็บ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยให้คุณเปลี่ยนมุมมอง ความคิดได้มาก ใครจะมองโลกในแง่ดีได้ ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางสภาพสกปรกรกรุงรังตลอดเวลา เพราะสภาพแวดล้อมที่ดี จะช่วยสร้างและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดทัศนคติด้านบวก

11. รับข้อมูลข่าวสารที่ดี หมั่นอ่านบทความที่สร้างแรงจูงใจ หรือฟังธรรมะที่กระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัว และเกิดปัญญา ซึ่งจะช่วยให้มองโลกและชีวิตได้อย่างเข้าใจ มีความหวัง และความสุข

12. ให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง และบอกตัวเอง ซ้ำๆ เพราะคำมั่นสัญญาดีๆมีผลต่อกระบวนการคิดของตัวเอง เช่น ถ้าคุณมีอาการซึมเศร้าเป็นประจำ คำมั่นสัญญาของคุณก็คือ “ฉันมีความสุข ฉันควบคุมตัวเองได้” บอกตัวเองเช่นนี้หลายๆครั้งในแต่ละวัน แล้วคุณจะรู้สึกถึงพลังความคิดด้านบวกที่เกิดขึ้น

ขอบคุณข้อมูลดีดีจากบ้านมหา ดอทคอม

“ยิ้ม” สร้างความสุข

สร้างความสุขให้กับตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ ในทุกๆ วันไม่ยากเลยค่ะ เริ่มด้วยการ…… “ยิ้ม” ยิ้มให้กับตัวเอง

ในแต่ละวันหลังจากตื่นนอนให้ยิ้มหน้ากระจก พูดกับตนเองในเรื่องดีๆ เช่น พูดถึงข้อดีของตนเอง พูดให้ กําลังใจกับตนเอง (พูดในใจ หรือพูดออกมาก็ได้) คําพูดดีๆเหล่านี้จะฝังอยู่ในจิตใต้สํานึก ทําให้เราเกิดพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคค่ะ

——————————–