เกมออนไลน์บนกระป๋องเครื่องดื่ม (#itinlife 377)

sponsor c9
sponsor c9

แวะร้าน 7-eleven แล้วไปที่ตู้เครื่องดื่มพบกระป๋องเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อหนึ่งมีลวดลายสวยงาม มีภาพผู้หญิงถืออาวุธน่าเกรงขาม แต่แต่งตัวไม่สมเป็นกุลสตรีแม้แต่น้อย เพราะเปิดเผยในส่วนที่ควรปิด และปิดในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องปิด อ่านรายละเอียดพบว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเครื่องดื่มเกลือแร่กระป๋องนี้มีรหัสสำหรับรับ item ของเกมฟรี ซึ่งใช้ในการเล่นเกมระดับโลก ชื่อ C9 (Continent of the ninth) มีชื่อเป็นไทยว่า “ทวีปที่ 9” ปัจจุบันมนุษย์แบ่งโลกออกเป็นทวีปไว้หลายแบบ แบบละเอียดจะแบ่งได้ 7 ทวีป คือ แอฟริกา แอนตาร์กติกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้

เกม C9 เป็นเกมต่อสู้แบบจำลองให้ผู้เล่นมีบทบาทเป็นนักรบ เพราะขายนักสู้ผู้หญิงที่ถือง้าวเป็นอาวุธไว้ข้างกระป๋อง เพราะในโลกของเรามีเกมหลายประเภท เช่น เกมหมากรุก เกมสแคบเบิ้ล เกมซูโดกุ เกมนกโกรธ เกมสร้างเมือง ที่มีเป้าหมายแตกต่างกันไป ซึ่งเกมที่เซียนเกมมักติดใจ อยู่ในกลุ่มเกมสมมติบทบาทว่าเป็นตัวละครในเกม เช่น pangya ที่ให้เป็นนักกอล์ฟขั้นเทพ หรือ ragnarok ที่ให้เป็นนักล่าอสูรสุดเท่ห์ หรือ starcraft ที่ให้เป็นผู้สร้างอนาจักรของตน หรือ facebook ที่มีเกมปลูกผักกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม หากไม่หมั่นรดน้ำพรวนดิน ก็จะมีเพื่อนแอบเข้าไปขโมยพืชผลได้

ถ้าเยาวชนได้กระป๋องนี้ไปก็มีแนวโน้มว่าจะไปหาดาวน์โหลดเกมเล่น และใช้รหัสใต้กระป๋องขอรับ item ฟรี ซึ่งปัจจุบันมีเกมมากมายที่เปิดให้เล่นฟรี ส่วนเกมออนไลน์ที่มีการแสดงผลสวยงาม และเชื่อมต่อกับเครื่องบริการ (Server) ก็มักต้องใช้เงินจริงซื้อเวลา หรือคุกกี้ (cookie) สำหรับใช้ซื้อไอเท็ม ราคาคุกกี้ เริ่มจาก 49 บาทได้ 5,000 คุกกี้ ไปถึง 1499 บาทได้ 240,000 คุกกี้ โดยเกมส่วนใหญ่มีเพื่อให้ความบันเทิง ซึ่งกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาความสุขจากโลกเสมือนจริง หรือฝากเป้าหมายของชีวิตไว้กับเกม ก็จะมีเกมเป็นเครื่องเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตแบบชั่วคราว โดยกลุ่มผู้อายุที่เล่มเกมสูงสุดก็จะเป็นเยาวชนที่มีเวลาแสวงหาความสุขจากเกมยามว่าง ต่างกับผู้ใหญ่ที่มีภาระหน้าที่ มีความสัมพันธ์ถาวรกับคนรอบข้างทั้งที่ทำงาน ในสังคม และครอบครัวที่เป็นบุคคลมีตัวตนจริงสัมผัสได้ มิใช่บุคคลที่หล่อสวยแบบดาราแต่อยู่ในจินตนาการที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งภาครัฐในไทยมิได้เห็นการติดเกมของเยาวชนเป็นปัญหาที่ชัดเจน

c9 : continent of the ninth
c9 : continent of the ninth

http://www.suansanook.com/wp-content/uploads/2012/10/0001-wallpaperstop1280_800.jpg

อาจารย์กูคือใคร

คำค้น นักศึกษา
คำค้น นักศึกษา

อาจารย์กูคือใคร (itinlife376)

คำว่า ครู อาจารย์ หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ผู้สอนให้ศิษย์เห็นแจ้ง แนะนำศิษย์ให้พ้นจากปัญหา ผู้เชี่ยวชาญทางปรัชญา ผู้มีความรู้สูง ผู้ให้ความรู้ให้คำแนะนำ เป็นที่พึ่งของผู้ไม่รู้ได้ เมื่อเทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลได้ถูกพัฒนาและเป็นที่ยอมรับว่าเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตรงประเด็น และตอบคำถามได้ จึงมีศัพท์คำว่าอาจารย์กู หรืออาจารย์กู๋เกิดขึ้น หมายถึง เว็บไซต์กูเกิ้ล (google.com) ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูล เมื่อมีคำถามแล้วใช้คำค้นที่เหมาะสมก็จะได้คำตอบที่ต้องการเป็นส่วนใหญ่ เปรียบเสมือนผู้ช่วยแก้ปัญหา ตอบคำถาม และช่วยเหลือผู้ไม่รู้ได้เสมอ

ปัจจุบันร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการทำธุรกิจ เพราะผู้คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ดูทีวีน้อยลง ฟังวิทยุน้อยลง แต่เข้าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ดูคลิ๊ปจาก youtube.com เพิ่มขึ้น ทำให้คนพันธุ์ใหม่เริ่มลดการซื้อหนังสือ แต่หาข้อมูล หาคำตอบจากกูเกิ้ลแทน และใช้ชีวิตในเครือข่ายสังคม หรือเกมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาอยากทราบว่านักศึกษาควรประพฤติตัวอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร จึงใช้คำว่านักศึกษาไปค้นในกูเกิ้ล โดยหวังว่าจะได้รับข้อมูลเชิงแนะนำจากอาจารย์กู

ผลการสืบค้นคำว่านักศึกษา จาก google.com ไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ เพราะพบคลิ๊ปรุนแรง ภาพติดเรท และเว็บผู้ใหญ่ในช่วงต้นของรายการ ซึ่งเป็นเรื่อง sex และ violence  จึงเป็นที่มาของคำถามว่าเราหวังฝากผีฝากไข้ได้มากน้อยเพียงใดกับข้อมูลที่ได้จากอาจารย์กู ในขณะที่โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคคลิ๊ก หรือยุคจิ้มเขี่ย เด็กประถม 1 เข้าถึงอาจารย์กูตามนโยบายของรัฐบาล เด็กมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยต่างรู้จักอาจารย์กู แล้วครู อาจารย์ก็มักมอบหมายให้ไปสืบค้น แทนการพึ่งพาหนังสือที่ฉายภาพว่าทันสมัยรู้จักใช้เทคโนโลยี แม้อาจารย์กูจะตอบคำถามมากมายได้ถูกต้อง แต่ก็มีข้อมูลเชิงลบมากมายคละเคล้ากับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็เพียงแต่หวังว่าเด็กประถมจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับสื่อ รู้จักผิดชอบชั่วดีผ่านการแนะนำจากครูประจำชั้น หากจะหวังให้กูเกิ้ลเลือกเฉพาะสารสนเทศที่ดีเชิงบวกอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะกระแสวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ต่อไปก็คงหวังพึ่งได้แต่คำว่าวิจารณญาณของผู้รับสารเท่านั้น

ผลจัดอันดับตามสื่อช่วงสิ้นปี (itinlife375)

facebook ranking
facebook ranking

30 ธ.ค.55 หนึ่งปีมี 365 วัน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ถูกรวบรวมเป็นข้อมูล เมื่อนำมาประมวลหรือวิเคราะห์แล้วนำมาจัดอันดับ รายงานสรุปและเผยแพร่ ทุกองค์กรมีหน้าที่ทำรายงานประจำปี หน่วยงานอิสระ เอกชน หรือภาครัฐหลายแห่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล เสนอประเด็นตามบทบาท หรือความเชี่ยวชาญของตน หน่วยงานทางการศึกษามีการรายงานข้อมูลว่าสถาบันใดมีคุณภาพ โดยให้คะแนนตามเกณฑ์ หน่วยงานด้านความบันเทิงก็จะจัดอันดับเพลง ภาพยนตร์ หรือนักแสดง หน่วยงานด้านความปลอดภัยก็จะเก็บสถิติ 7 วันอันตรายและเผยแพร่แบบวันต่อวันให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และใช้สารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน

ผลการจัดอันดับมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่ได้คะแนนสูง และได้คะแนนต่ำ เพราะผู้ที่มีคะแนนดีก็จะนำผลจัดอันดับไปประชาสัมพันธ์องค์กร ถือเป็นความสำเร็จที่จะต้องส่งต่อให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มยอดขายและยอดลูกค้า ส่วนผู้ที่ได้คะแนไม่ดีก็จะศึกษาเกณฑ์การให้คะแนน ทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนในอดีตว่าสอดรับกับเกณฑ์ที่ผู้จัดอันดับใช้พิจารณาหรือไม่ แล้วเพิ่มทรัพยากร วางแผนพัฒนา จัดให้มีกลไกรองรับสำหรับปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้มีการดำเนินการจนผ่านเกณฑ์ได้ชัดเจน และนำองค์กรสู่สนามการแข่งขันต่อไป แต่หากไม่สนใจแล้วรอโชคชะตาบันดาลให้ก็จะทำให้องค์กรหลุดจากวงจรการแข่งขันในกลุ่มนั้น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลการจัดอันดับหลั่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปี ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่ใช้ข้อมูลชัดเจน แต่ผลเสียต่อผู้ผลิตที่อยู่ท้ายตารางมักเป็นผลกระทบใหญ่หลวงนัก หลายองค์กรต้องยุบรวม ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างบุคลากรนับหมื่นคน ในทางกลับกันผู้ที่ประสบความสำเร็จก็จะยิ่งทะยานไปข้างหน้า เพราะมีทรัพยากรที่พร้อม แต่ผู้ที่อยู่ส่วนท้ายของรายงานมักมียอดขายตกลง ส่งผลให้มีงบประมาณน้อยลง ประชาสัมพันธ์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้น้อยลง ย้อนกลับไปกระทบยอดขายให้ลดลงอีกรอบ ส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดขององค์กร เหตุการณ์ข้างต้นเป็นกระแสวัฒนธรรมการบริโภคที่อำนาจการตัดสินใจเป็นของผู้บริโภคที่จะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ แล้วการแข่งขันแบบนี้ก็จะพบได้ตลอดเวลาในสังคมบริโภคนิยม ที่เสพสื่อมาประกอบการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ

http://www.thairath.co.th/content/oversea/260523

http://www.2poto.com/201011291879/2010-11-29-09-36-47-1879.html

ปลดพนักงานไม่ถูกปกปิดอีกต่อไป (itinlife372)

ความผิดของผู้เหลือรอด
ความผิดของผู้เหลือรอด

8 ธ.ค.55 ในอดีตข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อในทุกประเภทยังไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย  ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี และการคมนาคมที่ไม่สะดวก ทำให้ผู้คนไม่อาจรับรู้ถึงข้อมูล หรือไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารที่หลั่งไหลออกมาจากแหล่งข่าวได้ ทำให้เรื่องราวมากมายเป็นเหมือนเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น จนกลายเป็นเรื่องลี้ลับโดยปริยาย ถ้าผู้ส่งสารไม่สื่อออกไปอย่างเหมาะสม ผู้ทำสื่อไม่เผยแพร่ หรือผู้รับปฏิเสธข่าวสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมก็จะไม่เกิดขึ้น เดิมชาวโลกมีระบบการสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ อาทิ ข่าวที่องค์กรขนาดใหญ่มีแผนปลดพนักงาน หรือปิดกิจการมักเผยแพร่ไม่ทั่วถึง ผู้เขียนเริ่มคุ้นเคยคำว่าข้อมูลข่าวสารในช่วงฟองสบู่แตกปี 2540 แล้วมีผลพวงเป็นข่าวปลดพนักงานคราวละหลายพันคน ข้อดีของข่าวปลดพนักงานทำให้องค์กรมากมายตระหนัก เริ่มเรียนรู้ทั้งรู้เขา รู้เรา นำไปสู่การหามาตรการป้องกัน หรือจัดการความเสี่ยง

ปี 2555 มีข่าวปลดพนักงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และปลดครั้งละหลายพันคน ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ล่าสุด CITIGroup ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขายความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นองค์กรทางการเงินที่ส่วนหนึ่งบริการเกี่ยวกับการรับฝากถอน และปล่อยกู้ ได้ให้ข่าวว่ามีแผนปลดพนักงานหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน จากก่อนหน้านี้ก็มีข่าวปลดพนักงานระดับหมื่นคนในหลายองค์กรมาแล้ว จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น และทำอย่างไรไม่ให้เกิดแบบนั้นในองค์กรของเรา

สำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแหล่งที่ก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรม ก็พบปัญหาพ่ายแพ้ต่อนวัตกรรมของบริษัทอื่นในตลาดที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจง่าย  สินค้ารูปแบบเดิมไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ประกอบกับกำลังซื้อมีจำกัด เพราะคนหนึ่งจะซื้อทุกอย่างในโลกไม่ได้ หากมีบริษัทที่เป็นเบอร์ 1 ก็ย่อมมีบริษัทที่เป็นเบอร์สุดท้าย แล้วผลคือบริษัทที่ยอดขายต่ำต้องปรับเปลี่ยนไปในแนวกระทบความมั่นคงในอาชีพ และสวัสดิการของบุคลากรในองค์กร การจัดการความเสี่ยง การจัดการความรู้ การจัดการลูกค้า และตอบสนองเร็วต่อปัจจัยภายนอก จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้บริหารองค์กรในปัจจุบัน ดังนั้นการบริหารองค์กรให้อยู่รอดย่อมส่งผลถึง ความเป็นความตายในอาชีพของพนักงานนับหมื่นคนในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีบทเรียนขององค์กรที่ไปไม่รอดให้เรียนรู้มาแล้วมากมาย และหาอ่านได้ไม่ยากนัก

http://www.usatoday.com/story/money/2012/12/05/citi-cuts-11k-jobs/1747897/

http://video.cnbc.com/gallery/?video=3000133496&__source=yahoo|headline|quote|video|&par=yahoo

4G โฟร์จี หรือสี่จี .. ในวันนี้

โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation)
โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation)

11 พ.ย.55 ก่อนไปถึงโฟร์จี (4G) คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าการประมูลสามจี หรือทรีจี (3G) ที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่ออย่างต่อเนื่อง แล้วต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 ได้มีมติของผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการออกใบอนุญาต 3G แล้วตรวจสอบว่าการประมูล 3G มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ปัจจุบันคนไทยบางส่วนได้ใช้บริการ 3G ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้บริการแต่ละราย ได้แก่ TOT ใช้ความถี่ 2100 MHz มีความเร็วสูงสุด 42 Mbps ส่วน True Move และ True Move H ใช้ความถี่ 850 MHz ส่วน AIS ใช้ความถี่ 900 MHz ส่วน DTAC ใช้ความถี่ 850 MHz

โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation) คือ มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่พัฒนาต่อจาก 3G และ 2G โดยมีความเร็วตามทฤษฎีสูงถึง 100 Mbps เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม สามารถทำ Video Call ได้แบบไม่สะดุด สำหรับระบบที่เข้ากับ 4G ได้แก่ WiMAX, Flash-OFDM และ LTE เป็นต้น หากวันนี้มีบริการ 4G ให้ใช้ ผู้ใช้ก็ต้องหาอุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่นที่รองรับเทคโนโลยีนี้ เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังรองรับ 3G หรือ 2G เท่านั้น แต่ถ้าเป็น iPhone 5 ในไทยเปิดตัวเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555 รองรับระบบนี้แล้ว  ในประเทศลาวแถลงข่าวให้บริการระบบ 4G เป็นประเทศที่สองของเอเชียต่อจากประเทศสิงค์โปร์  เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งใช้มาตรฐาน LTE (Long Term Evolution หรือ LTE)

การประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ได้ถูกประมูลเมื่อ 16 ตุลาคม 2555 นั้น มีบริษัทเข้าร่วมประมูล 3 บริษัท ได้แก่ DTAC, True Move และ AIS สำหรับ TOT นั้นได้สัมปทานอยู่แล้ว  ส่วน 4G นั้นอาจมีการนำคลื่น 1800 MHz หรือ 2300 MHz ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในส่วนนี้ เพราะประเทศไทยต้องหาข้อสรุปเรื่อง 3G ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถนำเรื่อง 4G มาเป็นบันไดขั้นต่อไปของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศ

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136900

http://th.wikipedia.org/wiki/4G

http://www.club4g.com/

http://www.thairath.co.th/content/tech/302760

http://www.ais.co.th/4g/

ผลการจัดอันดับในสื่อ (itinlife 367)

ดัชนีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษ
ดัชนีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษ

3 พ.ย.55 คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบผลการแข่งขันในสื่ออินเทอร์เน็ต เมื่อมีผู้ที่ชนะก็ย่อมมีผู้ไม่ชนะ องค์ประกอบของการแข่งขันมีมากมาย อาทิ กรรมการตัดสิน กองเชียร์ ผู้ร่วมเกม เกณฑ์ประเมิน ช่วงเวลา รายงานผล และผลกระทบที่ตามมา ซึ่งการแข่งขันที่ใกล้ตัวก็เห็นจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งผลจากการเลือกตั้งจะส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนผ่านการบริหารของผู้ที่เราเลือกเข้าไป ส่วนผลการจัดอันดับที่ไกลตัวคือ การแข่งขันฟุตบอลในต่างประเทศ ที่ถึงแม้จะไกลตัว แต่เวลาฟังเพื่อนคุยเรื่องนี้ทีไรมักรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดระแวกบ้านทุกที

การจัดอันดับในประเทศไทย ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้ไม่ชนะ ซึ่งเกณฑ์ก็มักจะสร้างขึ้นกันเอง และผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็มักได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาต่างก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องแข่งขัน สถาบันที่ไม่ได้มาตรฐานหรือล้มเหลวในการดำเนินงานก็ต้องปิดตัว เด็กนักเรียนก็ต้องแข่งขันกันพัฒนาตนเองด้วยการเรียนพิเศษเพิ่มเติม ทั้งหลังเลิกเรียนและในวันสุดสัปดาห์ โรงเรียนกวดวิชาก็จะประชาสัมพันธ์ด้วยการนำเสนออันดับผลสอบของศิษย์ และจำนวนนักเรียนที่สอบติดในสถาบันที่เป็นที่ยอมรับ

มีผลการจัดอันดับประเทศไทย ที่รู้แล้วก็ต้องบอกว่าอึ้งไปชั่วขณะ คือ ผลการจัดอันดับศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก ในชื่อ EF English Proficiency Index เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 จากทั้งหมด 44 ประเทศ และปี 2555 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 53 จากทั้งหมด 54 ประเทศ โดยเราชนะประเทศลิเบียประเทศเดียว ส่วนในเอเชียเราอยู่อันดับสุดท้าย และเป็นเพียงประเทศเดียวของเอเซียที่อยู่ในระดับ Very Low Proficiency มีค่า EF EPI เท่ากับ 44.36 ซึ่งทั้งโลกมีสถานะในระดับต่ำมากจำนวน 16 ประเทศ หากต้องการหนีคำว่าสุดท้ายของเอเชีย เราต้องชนะจีน ซึ่งปี 2012 จีนอยู่อันดับที่ 36

http://www.newsenglishlessons.com/1210/121028-esl_speakers.html

http://www.ef.com/__/~/media/efcom/epi/2012/full_reports/EF%20EPI%202012%20Report_MASTER_LR.pdf

http://www.thelocal.se/44062/20121026

โหนกระแส 3G สร้างนิยามใหม่ (itinlife366)

3g
3g

27 ต.ค.55 ข่าว 3G ที่เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้มาหลายปี แต่เรายังไปไม่ถึงนั้น ระยะนี้มีข่าวออกมาค่อนข้างบ่อย และส่อไปในแนวว่าการประมูลที่จัดโดย กสทช. อาจถูกยกเลิกด้วยเหตุผลนานาประการ บริษัทที่ได้ไปประกอบด้วย เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เรามารู้จัก 3G ในแบบของผมดีกว่า โดยเกาะกระแสคำว่า KM (Knowledge Management) คือการจัดการความรู้ ซึ่ง 3G ในที่นี้มาจากอักษรนำ 3 ตัวที่ขึ้นต้นด้วยตัว G ประกอบด้วย Gallery, Garbage และ Gross ซึ่งรวมกันให้ความหมายในเชิงให้คำแนะนำถึงประเด็นสำคัญในรูปของกระบวนการที่คอยย้ำเตือนว่าอย่าลืมสิ่งสำคัญเหล่านี้ หากลืมไปก็อาจมีความเสียหายตามมาได้

คำแรก Gallery คือ การสะสม เพราะมนุษย์เราทุกคนเกิดมาต้องมีการสะสม ร้อยละ 99 ก็จะสะสมเงินทอง ในอดีตเราจะสะสมอาหาร คนมีฐานะก็สะสมเสื้อผ้า รองเท้า เพชร งานศิลปะ เครื่องลายคราม หรือวัตถุโบราณ นักเรียนสะสมความรู้ นักศึกษาสะสมประสบการณ์ก่อนออกไปทำงาน คนทำงานก็จะสมผลงาน ในรูปของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) การมีของสะสมมากมักถูกมองว่าเป็นคนมีฐานะ เพราะมองเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีอะไรให้ชม อาทิ สะสมรถยุโรป สะสมภาพเขียน สะสมของโบราณ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ก็จะสะสมความรู้ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งตัดสินใจอะไรได้ดี ถูกต้อง และมีคุณภาพ แล้วคนเหล่านี้ก็มักถูกบริษัทขนาดใหญ่ซื้อตัว แย่งชิงผู้บริหารไปบริหารบริษัทของตน อาทิ Steve Jobs หรือ John Sculley เป็นต้น

คำที่สอง Garbage คือ ขยะ เพราะหลังสะสมไประยะหนึ่ง ก็ต้องมีการจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ คัดกรอง แยกประเภท นำไปใช้ แล้วก็จะพบกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ แล้วก็ต้องจำหน่ายขยะเหล่านั้นออกไป หากเข้าใจเรื่องนี้เหมือนร้านรับซื้อของเก่า ก็อาจทำธุรกิจใหม่ หรือสร้างมูลค่าจากขยะขึ้นมาได้ อาทิ การแปลงขี้ช้างไปเป็นกระดาษขี้ช้างเป็นต้น เรียกว่าเห็นขยะมีมูลค่าขึ้นมา คำที่สาม Gross คือ การสรุปผล หรือหาผลรวม ที่ต้องเข้าใจจังหวะเวลา รอบคอบ และความเหมาะสม เพราะมีคำเตือนจากสุภาษิตว่า สงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพ หรือ เกมยังไม่จบ อย่าพึ่งนับเงิน หมายถึง การปิดกิจกรรม/โครงการอย่างรอบคอบรัดกุม และประเมินผลทั้งหมดรอบด้านแล้ว ถ้าทำกิจกรรมใดแล้วห่วงหน้าพะวงหลัง คอยประเมินผลตลอดเวลาโดยใช้ข้อมูลไม่ครบ ก็อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ระบบห้องสมุดที่บ้าน (itinlife365)

SLiMS senayan library management system
SLiMS senayan library management system

21 ต.ค.55 ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาได้ง่าย ดาวน์โหลดเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับหนังสือในบ้านของทุกคนในครอบครัวก็เรียกได้ว่าเกินที่เก็บ ทั้งบนหิ้งหนังสือ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือในความทรงจำ ในอดีตการมีห้องสมุดที่บ้านเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะร้านหนังสือมีน้อย หนังสือมีไม่หลากหลาย และราคาแพง แต่นโยบายสนับสนุนให้คนไทยอ่านมากขึ้น ทำให้มีหนังสือวางจำหน่ายในร้านหนังสือทุกประเภท และร้านหนังสือเปิดอยู่ทุกมุมเมือง หลายบ้านจึงมีห้องสมุดที่บ้าน (Home Library)

การมีหนังสือจำนวนมากในบ้านทำให้การค้นคืนทำได้ยาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เราสามารถเช่าเครื่องบริการ (Web server) พร้อมโดเมนเนม (Domain name) ไว้จดบันทึก เผยแพร่เรื่องราวรอบตัว (Blog) หรือทำธุรกิจขนาดเล็กได้แล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1,500 บาทต่อปีกับค่าเช่าพื้นที่และจดโดนเมนเนม ประกอบกับมีสคลิ๊ปแบบโอเพนท์ซอร์ท (Open Source) ให้นำมาติดตั้งและปรับแต่งได้ตามความต้องการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งหนึ่งในสคลิ๊ป (Script) ที่น่าสนใจคือ ระบบจัดการห้องสมุดเสนายันที่พัฒนาโดยชาวอินโดนีเซีย ซึ่งมีคนไทยร่วมพัฒนา แล้วใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

SLiMS (Senayan Library Management System) รุ่น 5 มีการปรับปรุงล่าสุดวันที่ 12 กันยายน 2555 สามารถนำมาติดตั้งในเครื่องบริการที่รองรับ MySQL และ PHP อาจใช้เป็นเพียงห้องสมุดบ้านที่รองรับการสืบค้นของสมาชิก และจัดเก็บให้เป็นระเบียบ โดยระบบแบ่งผู้เกี่ยวข้องเป็น 3 ระดับคือ ผู้ใช้ทั่วไป สมาชิกห้องสมุด และเจ้าหน้าที่ หากต้องการพิมพ์บาร์โค้ด (Barcode) สำหรับติดปกหนังสือแต่ละเล่มก็สามารถทำได้ รองรับการแนบแฟ้มมากกว่าหนึ่งแฟ้ม เพิ่มภาพปกหนังสือ ส่งแฟ้มออก (Export) หรือนำเข้า (Import) แฟ้มได้หลายรูปแบบ  รองรับการอัพโหลดอีบุ๊ค หากมีเพื่อนต้องการสืบค้น หรือยืมหนังสือก็เพียงแต่แจ้งที่อยู่เว็บเท่านั้น  นี่คือการพัฒนาแหล่งจัดเก็บสื่อการเรียนรู้ในพอศอนี้ แล้วปัญหาอ่านน้อยของคนไทยก็จะหมดไป หากทุกบ้านมีระบบห้องสมุดสื่อที่ง่ายต่อการสืบค้นและเข้าถึง

การเขียน blog ของเด็ก ๆ ใน fb page

blog note
blog note

18 ต.ค.55 วันนี้ให้เด็ก ๆ เขียน blog  ซึ่งใช้บริการของ facebook page พบว่าง่ายกว่าบริการแนวเดียวกันคือ wordpress.com หรือ gotoknow.org หรือ blogger.com เพราะเป็นอะไรที่เด็ก ๆ คุ้นเคย แค่คลิ๊กคำว่า note (เป็นบริการใน fb page ซึ่งเพิ่มเด็ก ๆ เขาไปเป็น admin แล้ว และทำ favorite แต่ละคนกับ page นี้ จะได้เข้าง่าย ๆ ) แล้วก็ไหลไปตามขั้นตอน เท่านี้ก็บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ได้แล้ว ที่ย้ำ คือ ให้เลือกบันทึกร่าง ก่อนเผยแพร่เท่านั้นเอง  ใน blog แรกของแต่ละคนให้เขียน 1) งานบ้านของพวกเราช่วงปิดเทอม 2) ปิดเทอม 1 ม1ของมาหยา 3) วิชาเพิ่มเติมของน้องพีพีตอน ม.1 เทอม 2 หลังจากเขียนบล็อกเสร็จก็เป็นหน้าที่ของระบบในการเชื่อมเข้า twitter.com ของ @nationretweet แล้วเชื่อมไปยัง webpage ของ thainame.net ซึ่งพบลิงค์ที่เชื่อมไปยังบันทึกได้ทันที สำหรับเว็บไซต์นี้ได้เปิดเป็นระบบให้เด็ก ๆ สร้างข้อสอบกันเองผ่านแฟ้มประเภท csv ตอนนี้ก็ได้คนละเกือบ 2 ร้อยข้อกันแล้ว ทำกันว่าง ๆ ช่วงปิดเทอม 1 แล้วให้ฝึกทำกันเองโดยกำชับว่าต้องได้คะแนนเต็มนะ เพราะออกโจทย์กันเองก็ต้องเต็มสิ จากนี้ก็คงให้เขียน blog กันต่อเนื่องต่อไป

ติดตาม blog เด็ก ๆ ได้ที่ http://www.facebook.com/ajarnburin/notes

แฮกเกอร์หมวกขาวแฮกกูเกิ้ล (itinlife 364)

psn (playstation network)
psn (playstation network)

ข่าวจาก zdnet.com กลางเดือนตุลาคม 2555 เล่าถึงผลงานของแฮกเกอร์หมวกขาว (White hat hacker) ที่พบรอยรั่วของ google.com ซึ่งคำว่าแฮกเกอร์ (Hacker) คือ คนที่มีพฤติกรรมลักลอบเข้าระบบในช่องทางที่ระบบไม่ได้เตรียมไว้ เหมือนกับการแอบปีนเข้าหลังบ้านไม่ให้เจ้าบ้านรู้ตัว มิได้เดินเข้าทางประตูบ้านแล้วกล่าวทักทายเจ้าบ้านเหมือนแขกทั่วไป ถ้าเป็นแฮกเกอร์ทั่วไปจะเป็นแฮกเกอร์หมวกดำ (Black hat hacker) คือ คนที่ลักลอบเข้าระบบ แล้วใช้ประโยชน์จากรอยรั่วที่ค้นพบ และก่อความเสียหายให้กับระบบ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และก่อความเสียหายกับเจ้าของระบบ

ในเว็บไซต์ขนาดใหญ่ อาทิ google, facebook, mozilla หรือ twitter ต่างก็ใส่ใจกับความปลอดภัยของระบบบริการของพวกเขา จะมีกลไกทำกิจกรรม Bug bounty program หรือ Vulnerability reward program คือ การให้รางวัลแก่ผู้ตรวจพบจุดบกพร่องของระบบ แล้วบริษัทก็จะปิดจุดบกพร่องเหล่านั้น ก่อนที่แฮกเกอร์ทั่วไปจะเข้าถึง และนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ เงินรางวัลอยู่ระหว่าง 15,000 บาท ถึง 90,000 บาท ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดช่องทางให้เหล่าแฮกเกอร์มีทางเลือกในการเป็นแฮกเกอร์หมวกขาว ส่งผลให้ข่าวการแฮกระบบของแฮกเกอร์ทั่วไปลดลง

แฮกเกอร์หนุ่มอิสราเอล 3 คน คือ Ben Hayak, Nir Goldshlager และ Shai Rod ทำงานเป็นแฮกเกอร์หมวกขาว ซึ่งเป็นงานนอกเวลา บทเรียนเรื่องนี้สะท้อนได้ว่าผู้ดูแลระบบ (Administrator) หรือองค์กร (Organization) ควรใส่ใจกับความปลอดภัยในทุกขั้นตอน หากในองค์กรมีกิจกรรมที่เปิดให้คนในองค์กร หรือคนทั่วไปค้นหาจุดบกพร่องของระบบ หากค้นพบแล้วแจ้งตามช่องทางที่เตรียมไว้ ผู้ที่ค้นพบก็จะได้รางวัลเป็นค่าตอบแทน ส่วนองค์กรก็จะปิดจุดบกพร่องเหล่านั้นก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายเหมือนเคยเกิดกับ Yahoo! Voices ที่ถูกแฮกแล้วนำรหัสผ่านไปเปิดเผยกว่า 450,000 บัญชี ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2555 หรือการแฮกเครื่องเกมเพลย์สเตชัน3 ก่อความเสียหายกับบริษัท sony มีมูลค่าความเสียหายกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งแฮกโดย Geohot (จอร์จ ฟรานซิส ฮอตซ์) ที่เคยแฮก iPhone ทำ jailbreaks มาให้ใช้ โลกเรามีขาวกับดำเหมือนหยินกับหยาง ถ้าใช้ประโยชน์ก็เป็นธรรมะ ใช้ทำลายก็เรียกว่าอธรรม

+ http://www.zdnet.com/hacking-google-the-three-israeli-white-hats-rooting-out-the-webs-security-holes-7000005542/

+ http://www.pantip.com/tech/techblog/article.php?articleID=SV3074764