แท็บเลต 1.7 ล้านเครื่อง ในงบประมาณ 1760 ล้านบาท

tablet ป.1 และ ม.1
tablet ป.1 และ ม.1

ตัวเลข 1.7 ล้านเครื่อง ถ้าราคาเครื่องละ 2,000 บาท
ก็น่าจะเกินงบไปมากกว่าเท่าตัว
งบแท็บเล็ตน้อยกว่ารถคันแรกเยอะเลย
เห็นยอดรถคันแรกน่าจะใช้งบหนึ่งแสนล้านบาท แต่งบแท็บเล็ตแต่หนึ่งพันกว่าล้านเอง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เปิดสเป็กจัดซื้อ “แท็บเลต” ลอตใหม่ 1.7 ล้านเครื่อง รวบแจก ป.1-ม.1 ตั้งราคากลาง “ป.1-2,720 บาท” เครื่องเด็ก ม.1 ที่ “2,920 บาท” พร้อมเตรียมเปิดขายซอง 3-5 เม.ย.56 เคาะราคา 29 เม.ย.56  แบ่งประมูล 4 รอบ จับคู่แยกรายภาค สารพัดแบรนด์รุมจีบทั้ง “จีน-อินเดีย-เยอรมนี” คาดแข่งเดือด ขณะที่ “ครู ป.2” โอละพ่อเด็กหิ้วเครื่องติดตัวมาจาก ป.1 แต่ไม่มีงบฯจัดซื้อเครื่องให้ครู

น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเลตเพื่อการศึกษา (One Tablet per Child : OPTC) ว่า ขณะนี้ได้สรุปสเป็กของแท็บเลตที่ต้องจัดซื้อลอตใหม่ เพื่อแจกชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 พร้อมกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดซื้อแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดซื้อด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)

สำหรับราคากลางในการจัดซื้อแท็บเลตเด็ก ป.1 อยู่ที่เครื่องละ 2,720 บาท ม.1 และเครื่องสำหรับครูอยู่ที่ 2,920 บาท รวมภาษีและค่าขนส่งถึงหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ โดยจัดซื้อรวมทั้งสิ้น 1.74 ล้านเครื่อง สพฐ.ได้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อจากเจ้าของงบประมาณ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักการศึกษาเมืองพัทยา และ สพฐ.เอง เพื่อจัดซื้อ

แท็บเลตให้โรงเรียนในสังกัดโดยสเป็กแท็บเลตลอตนี้หลัก ๆ เหมือนกันคือใช้หน่วยประมวลผล (CPU) ดูอัลคอร์ 1.5 GHz หน่วยความจำ (RAM) ขนาด 1 GB ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ขึ้นไป หรือวินโดวส์ แบตเตอรี่ 3600 mAh ต่างกันที่เด็ก ป.1 มีหน้าจอ 7 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 8 GB ส่วนเด็ก ม.1 และเครื่องคุณครู หน้าจอ 8 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 16 GB ซึ่งเครื่องของครูมีฟังก์ชั่นเพิ่ม เช่น ช่อง HDMI มีปากกาสไตลัส พร้อม SD card ความจุ 8 GB เพิ่มให้ต่างหากซึ่งสเป็กที่สูงกว่าการจัดซื้อในปีที่แล้ว ที่เป็น CPU และเป็นแบบแกนเดียว ความเร็ว 1 GHz ความจุ RAM 512 MB ฮาร์ดดิสก์ 8 GB และหน้าจอ 7 นิ้ว ราคา 82 เหรียญสหรัฐ (รวมค่าขนส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิ)และจะเปิดขายซองข้อมูลสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมประมูลวันที่ 3-5 เม.ย. 2556 มีกำหนดชี้แจงข้อมูลระเบียบ และข้อกำหนดเทคนิค (ทีโออาร์) วันที่ 9 เม.ย. เปิดยื่นซองเทคนิควันที่ 17 เม.ย. และประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์วันที่ 27 เม.ย. ประมูลแบบ e-Auction วันที่ 29 เม.ย. และจัดพิธีลงนามในสัญญาจัดซื้อ 9 หรือ 10 พ.ค. ให้ผู้ชนะทยอยส่งแท็บเลตตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.จนครบใน 90 วันนับจากเซ็นสัญญา

“ปีนี้กระบวนการจัดซื้อแท็บเลตใช้ e-Auction ต่างกับปีที่แล้วที่ใช้การจัดหาแบบทำสัญญารัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นการจัดหาคือสั่งผลิต ไม่ใช่จัดซื้อแบบครั้งนี้ที่ผู้เข้าประมูลทุกรายต้องนำแท็บเลตที่สมบูรณ์แล้ว 6 เครื่องมาให้ทดสอบก่อนว่าตรงตามสเป็กหรือไม่ ใช้งานกับซอฟต์แวร์และคอนเทนต์ของ สพฐ.ที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ ที่สำคัญคือเป็นการตัดสินกันที่ราคา สเป็กที่เหนือกว่าคู่แข่งไม่มีผลถ้าราคาแพงกว่า”

ส่วนการเคาะราคาประมูลในเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 รอบตามสัญญาที่แยกเซ็น ได้แก่ สัญญาการจัดซื้อแท็บเลตสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้จำนวน 431,775 เครื่อง สัญญาจัดซื้อสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 417,042 เครื่อง สัญญาที่ 3 สำหรับชั้น ม.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ 416,440 เครื่อง และสัญญาจัดซื้อแท็บเลต ม.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 423,333 เครื่อง โดยผู้ชนะประมูลจะลงนามในสัญญาจัดซื้อโดยตรงกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ เนื่องจาก สพฐ.เป็นแค่ผู้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อเพื่อให้มีปริมาณมากพอ

ขณะที่แท็บเลตสำหรับให้คุณครูจำนวน 54,000 เครื่อง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องเปิดประมูลและทำสัญญาแยกต่างหาก หรือรวมเข้าไปในการจัดซื้อแท็บเลตแต่ละสัญญาที่แยกตามพื้นที่ แต่มั่นใจว่าการจัดซื้อครั้งนี้จะได้ราคาต่ำกว่าราคากลางแน่นอน เพราะจัดประมูลแยกเป็นรอบ ๆ ไล่ทีละสัญญา เชื่อว่าในสัญญาที่ 4 รอบสุดท้ายยิ่งได้ราคาต่ำที่สุด ซึ่งอาจได้ผู้ชนะแยกเป็น 4 ราย หรือมีแค่บริษัทเดียวก็ได้ ที่สำคัญคือเป็นการประมูลที่เปิดกว้าง ใครที่คิดว่ามีศักยภาพก็เข้ามาประมูลได้

น.อ.สุรพล เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตแท็บเลตหลายรายสนใจเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ อาทิ ทีซีแอล, ไฮเออร์, แชมเปี้ยนเอเชีย, สโคป, อินถัง, ออลอิน แบรนด์ซังเวิร์นของเอเซอร์ รวมถึงผู้ผลิตแท็บเลตของอินเดียและเยอรมนีด้วย ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยมา บริษัทจีนบางแห่งยอมขาดทุนเพื่อให้ได้โปรเจ็กต์นี้ และเพื่อใช้ชื่อประเทศไทยเพิ่มโปรไฟล์ให้ตนเอง เนื่องจากมีไม่กี่โครงการที่จัดซื้อพร้อมกันเป็นลอตใหญ่

และนอกเหนือจากการจัดส่งแท็บเลตที่ลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดแล้ว ผู้ชนะประมูลยังต้องเสนอแผนการตั้งศูนย์บริการให้ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามสัญญาจัดซื้อ รวมถึงการรับประกันสินค้าเป็นเวลา 1 ปีด้วย

“การจัดซื้อครั้งนี้ได้นำบทเรียนจากครั้งก่อนมาปรับปรุง ตั้งแต่การเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อให้ศึกษาทำความเข้าใจ และยอมรับเงื่อนไขก่อนเข้าประมูล การให้นำแท็บเลตมาทดลองลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ต่าง ๆ ว่าทำงานได้สมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นตอนทดสอบเทคนิค รวมถึงการใช้ e-Auction ให้การจัดซื้อโปร่งใส วัดกันที่ราคา จะได้ไม่เกิดข้อครหาทำให้ส่งมอบล่าช้า”

ข้อกังวลที่มีอยู่ คือ ไม่แน่ใจว่าทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะมอบอำนาจการจัดซื้อมาให้ สพฐ.ทันหรือไม่ เนื่องจากติดขัดเรื่องระเบียบการจัดซื้อ และยังมีปัญหาไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อแท็บเลตที่จะให้ครูชั้น ป.2 นำไปสอนเด็กนักเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตตั้งแต่ตอน ป.1

ขณะที่ความคืบหน้าในการนำแท็บเลตที่จัดซื้อในปีที่แล้วไปใช้งาน ล่าสุดกระทรวงไอซีทีลงนามในสัญญาเช่าใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลพร้อมอุปกรณ์โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (WiFi network) กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อให้ทั้ง 27,231 โรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีอินเทอร์เน็ต WiFi ความเร็ว 4-10 Mbps. ใช้ฟรี

งบประมาณ 1,760 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 300 วัน นับจากส่งมอบอุปกรณ์ให้โครงข่ายกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOENet จะทยอยเปิดให้บริการใน มิ.ย.เป็นต้นไป คาดว่าจะครบทั้งระบบภายใน ส.ค. โดยกระทรวงไอซีทีได้เตรียมเสนอของบประมาณปี 2557 ไว้ 4,250 ล้านบาทสำหรับวางโครงข่าย WiFi เพิ่มเติมให้โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตในปีการศึกษา 2556 กว่า 43,258 แห่ง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1363062897&grpid=&catid=06&subcatid=0603

Author: burin

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply