คนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มปีละเป็นหมื่น

ลดเค็มก็ลดโอกาสเกิดโรคไต
ลดเค็มก็ลดโอกาสเกิดโรคไต

อึ้ง! คนไทยป่วยไตเพิ่มปีละหมื่น “เหนือ-อีสาน” สภาพแวดล้อมเอื้อเป็นนิ่ว
ย้ำลดเค็มลดเสี่ยงได้

นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคไตมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ยประมาณปีละ 1 หมื่นราย จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตร้อยละ 17.5 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งมีตั้งแต่ระยะต้นไปถึงระยะท้าย สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มระยะท้ายที่ต้องล้างไต ฟอกเลือด ประมาณ 4 หมื่นคน จะใช้ค่าใช้จ่ายสูงอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี สำหรับสัดส่วนการเกิดโรคไตยังคงมาจาก 2 โรคหลัก คือ เบาหวานและความดันโลหิตสูง และยังมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น นิ่ว การรับประทานยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น ทั้งนี้ จะพบประชากรที่ป่วยด้วยโรคนิ่วและทำให้เกิดโรคไตชุกในภาคเหนือและภาคอีสาน แม้จะยังเป็นรองจากความดันและเบาหวาน แต่ก็ถือเป็นปัจจัยที่ต้องระวังในประชากรกลุ่มนี้

ความชุกในการเกิดโรคนิ่ว ที่เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีความผิดปกติของเกลือแร่บางอย่าง และสภาพอากาศที่ร้อนจัด เมื่อดื่มน้ำไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดปัสสาวะข้น และเป็นสาเหตุการเกิดโรคนิ่วขึ้นได้ และยังพบว่า มีส่วนมาจากพันธุกรรมของประชากรในภาคเหนือและอีสานด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดยังเป็นเรื่องของความดันโลหิตและเบาหวาน จึงต้องควบคุมน้ำหนักและลดเค็มเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไตด้วย” นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร กล่าว

นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร กล่าวว่า สำหรับประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีฟอกเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตผ่านช่องท้องนั้นงานวิจัยทั่วโลกและประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน และจะมีข้อดีและข้อเสียในการรักษาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเอง เช่น ความสะดวกในการเดินทาง การช่วยเหลือตนเอง โดยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จะเหมาะกับคนอายุไม่มากนักสามารถดูแลตัวเองได้ เพราะสามารถทำได้ด้วยตนเองทุกวัน และอาจเหมาะกับผู้ป่วยในบางจังหวัด ซึ่งเครื่องล้างไตไม่เพียงพอ เพราะไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลทุก 3 วัน
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9560000029980

Leave a Reply