จับเวลา scan หนังสือ 34 หน้า

26 ก.ย.53 วันนี้จับเวลาการ scan หนังสือเรื่อง “ชาวบ้านวิจัยไหล่หิน : อยู่หรือตาย จัดการได้อย่างพอเพียง” ในชุดประสบการณ์วิจัยจากพื้นที่ เล่มที่ 44 ซึ่งมี 34 หน้า ด้วย HP Deskjet f2480 และโปรแกรม Irfan view ใช้เวลารวมประมาณ 15 นาที โดยวิธีตัดขอบ แล้ว scan ครั้งละ 2 หน้า เมื่อได้แฟ้มประมาณ 17 แฟ้มก็นำมาตัดออกทีละหน้า ซึ่งเวลาในการ crop นั้นไม่รวมอยู่ใน 15 นาทีข้างต้น .. เล่าสู่กันฟัง

การเขียน X-bar ใน word

1 ก.ย.53 ถ้าต้องการเขียน x-bar หมายถึง ค่าเฉลี่ย (average) ทำได้โดยการกดปุ่ม Ctrl-f9 แล้วพิมพ์คำว่า

EQ \O(x,ˉ)

จากนั้นกดปุ่ม Shift-f9 ก็จะพบกับสัญลักษณ์ X-bar ตามต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการเขียนรายงานการวิจัย สำหรับนำเสนอผลเชิงสถิติอย่างง่าย

เปิดโครงการวิจัยนักศึกษาที่บ้านไหล่หินในพื้นที่ครั้งแรก

เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus
เวทีสรุปโครงการ cbr และเปิด cbpus

2 – 4 ต.ค.52 นายกร กับน.ส.มะปราง พร้อมเพื่อนคือนายอั๋น และนายบอย เข้าเปิดตัวโครงการวิจัยที่รับทุน CBPUS เวลา 20.00น – 23.00น. ของศุกร์ที่ 2 ในเวทีนี้ที่มีโครงการวิจัยเชื่อมโยงกัน 3 โครงการ ซึ่งคืนแรกนอนกันที่วัดโดยพระครูดูแลพาสวดมนต์ค่ำ คืนนั้นก็พอถูไถไปได้อยู่ แต่คืนที่สอง ต้องไปนอนบ้านอ.เก๋ แล้วกรบอกว่ากลัวผีเข้าวัดได้ เนื่องจากดูภาพยนต์เรื่องทางห้าแพร่งมาก่อน อ.เก๋ ถึงกับอ้าปากค้าง (เล่าขวัญลูกศิษย์) ตะลึงว่าสมัยนี้ยังมีภาพยนต์หลอกเด็กจนเด็กเชื่อแบบนี้อยู่อีกหรือ ก็เป็นการเข้าพื้นที่ครั้งแรก ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบกันก่อน ครั้งต่อไปก่อนปิดโครงการจะเกลี้ยกล่อมให้นอนวัดให้ได้ ไม่งั้นเสียชาติเกิดเป็นคนไอทีหมด วันรุ่งขึ้นและวันถัดไปเข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอจากนักวิจัยชุมชนกว่า 10 ท่าน ได้พบผู้นำ นักเรียน และครูใหญ่ มีเรื่องเล่ากันมากมาย แต่ที่แน่ ๆ คือนอนตื่น 10 โมงเช้า เพราะอ.เก๋ ชวนเคลียร์ประเด็นเกือบตีสามทั้ง 2 คืน และคุยกันอีกยาวหลายต่อหลายรอบ
     ประเด็นการประชุมมี 3 โครงการ คือ สรุปปิดโครงการของผม มี 11 วาระดังนี้ 1)นำเสนอบทสรุปของโครงการด้วยกิจกรรมชวนทุกคนร่วมทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการขยายผลทั้งองค์ความรู้ผ่านสื่อวีดีทัศน์ในรูปของโครงการวิจัยต่อยอด และความร่วมมือกับกลุ่มในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน โดยกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคือการชวนทีมวิจัยเล่าเรื่องซึ่งมีประเด็นหลักดังนี้ 1)การเริ่มต้นของโครงการ 2)การได้มาของประเด็นปัญหา 3)นำเสนอปัญหาในฐานะแม่บ้าน 4)การรวมตัวของทีมต่างบทบาท 5)อุปสรรคในระยะแรก 6)การเข้ามาของเครื่องมือช่วยคลายปมปัญหา 7)ส่วนร่วมของนักเรียน 8)ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่สัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน 9)พลังของทีมวิจัยร่วม 10)ผลของการศึกษาดูงาน 11)ความประทับใจของนักวิจัย 2)นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ในนามนักศึกษาทุนวิจัย CBPUS  นำเสนอโครงการวิจัยแนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เพื่อต่อยอดขยายผลโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพในบ้านไหล่หิน 2)เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตามโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน 3)พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์  อิสฺสรธมฺโม ในนามประธานชมรมธรรมะสว่างใจ นำเสนอ “โครงการขยายแนวร่วม ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน บ้านไหล่หิน จ.ลำปาง” ที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มของทีมวิจัยที่เข้มแข็งมาเป็นกลไกขับเคลื่อนอีกแรกหนึ่ง แล้วอธิบายวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้ 1)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีคุณธรรมสามารถ ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด และอบายมุข 2)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินได้พัฒนาไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” 3)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
     ก่อนกลับนักศึกษาได้ไปลาพระครู ท่านก็ให้พร และชวนไปทำวีดีโอโครงการของท่าน ซึ่งจะมีเครือข่ายสานสัมพันธ์กับผู้นำทั้งในและนอกพื้นที่ สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเหล่าศิษย์ที่ท่านจะชวนไปรู้จักและไปเป็นเครือข่าย .. ผมยังนึกในใจว่าอยากกลับเป็นเด็กอีกครั้งจะได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาชนแบบนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องลุ่นว่าศิษย์ของผมเห็นโอกาสเหล่านั้นอยู่ในทางเลือกของพวกเขาหรือไม่ ดังคำว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง .. คืนวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2552 ลูกศิษย์หลายคนจะไปเดินจงกลมรอบเจดีย์วัดไหล่หินลุ่ม และปีนดอยฮางศึกษาธรรมชาติ ศิษย์โยนกท่านใดสนใจติดต่อผมได้ แต่มีเงื่อนไขไม่รับคนกลัวผี

อบรมการเขียนวิจัยภาษาอังกฤษ

วิทยากร การเขียนวิจัยภาษาอังกฤษ
วิทยากร การเขียนวิจัยภาษาอังกฤษ

6 ต.ค.52 เข้าอบรมการเขียนงานวิจัยภาษาอังกฤษ จัดโดยคณะสังคมฯ ซึ่งวิทยากรรับเชิญเป็นกลุ่มอาจารย์สอนปริญญาโทจากมหาวิทยลัยพายัพ แม้วันนี้เป็นวันที่สอง ก็มีคนแน่นห้องเหมือนเดิม บุคลากรภายใน 29 คน บุคคลภายนอกอีกพอกัน เนื้อหาบรรยายของวิทยากรแต่ละท่านมีดังนี้ 1)Sudha Subramanian เปิดด้วยการชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัย อาจารย์หลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งของโยนก และอาจารย์จากบุรีรัมย์ ฟังแล้วทึ่งในประสบการณ์ของหลายท่าน สำหรับหัวข้อประกอบด้วย Where do i start? และ How do i start? และ Three P’s : Probe ค้นหา, Passion ความชอบ , Persistence ความเพียร 2)Philip Keay, M.A., Dip,ELT สอนเขียนบทความแบบ Free writing โดยหัวข้อใหญ่คือ The process of writing มี 5 ขั้นตอนคือ 2.1)generating idea 2.2)planning 2.3)writing 2.4)revising 2.5) editing 3)Pearl Wattanakul, Ph.D. Department Head ท่านดู Active มาก สอนเรื่องการเขียนงานวิจัย ซึ่งมี Powerpoint นำเสนอวิธีการ 37 slides สำหรับหัวข้อที่สำคัญ อาทิ Process of Research, Research Proposal Structure, Classification of Research by Purpose, Classification of Research by Method 4)David Richards, M.Phil. เป็นท่านสุดท้าย แต่ผมติดภารกิจ จึงไม่อาจนำรายละเอียดมาเล่าให้ฟังได้ เสียดายมากครับ
     สำหรับการเรียนกับ Philip Keay ท่านให้ทำงานเขียนบทความแบบ free writing ในห้องอบรม แล้ว อ.นาดีน ช่วย prove เรื่อง gramma ซึ่งมีผลงานดังนี้

Nowadays, globalization is the life style of everybody. It is a new generation of life. Digital computer can use data in type of 0 and 1 and it can be applied to images, sounds, animation and movies. We have tried to make artificial intelligence which looks like humans. All computers go into one network among wire and wireless technology. Everybody has an email account on the internet and communicate on social networking sites. If i mention the twitter website, it would represent individuals of today.

+ http://www.thaiall.com/ppt/research_proposal_drpearl.ppt
+ http://www.facebook.com/family/Subramanian
+ http://tesol.payap.org/Faculty.html

แก้ postfix ให้รับอีเมลยืนยันจาก thailis

1 ต.ค.52 อ.อัศนีย์ ณ น่าน ประสานโครงการ Thailis แล้วสมัครสมาชิกเป็นผู้ใช้ เพื่อสืบค้น fullpaper research ฉบับเต็ม เพราะการดำเนินการเป็นผู้ให้บริการข้อมูลจำเป็นต้องมีขั้นตอน และใช้เวลา จากนั้นคุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ สมัครเป็นผู้ใช้ด้วย e-mail gmail.com ก็ได้รับอีเมลยืนยันการสมัคร และสืบค้นได้ตามปกติ แต่คุณอนุชิต ยอดใจยา และผมสมัครด้วย e-mail ของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับอีเมลยืนยันใดเลย ซึ่งปัญหานี้เป็นไปได้ 2 กรณีคือ 1)thailis server ไม่ส่งเข้ามหาวิทยาลัย 2)server มหาวิทยาลัยมองเป็น bad mail จากข้อสงสัยข้อที่ 2 จึงเข้าไปตรวจ mail log ของคุณอนุชิต ยอดใจยา ก็พบข้อความว่า “Sender address rejected: Domain not found” และพบว่าเครื่องส่ง mail ของ thailis ถูกปฏิเสธ วิธีแก้ไขที่ง่ายคือแก้ที่ตัวเรา ถ้าแก้ที่ต้นเหตุอาจต้องคุยกันยาว
      ดำเนินการแก้ปัญหา 1)เข้าห้อง /etc/postfix ใน mail server 2)เปิดแฟ้ม main.cf ด้วย vi 3)พบค่า config ว่า smtpd_sender_restrictions = reject_unknown_sender_domain 4)ยกเลิกค่าในข้อ 3 5)reboot server ก็จะได้รับ email จาก thailis ตามปกติ ทำตาม 5 ขั้นตอนข้างต้น ผมก็สืบค้นงานวิจัย และ download fullpaper research ได้แล้ว ผลการทดสอบ download พบบทความเรื่อง scorm ของ อ.อิงอร วงษ์ศรีรักษา ซึ่งเป็นงาน scan จากเอกสารขนาด 5 หน้า
+ http://tdc.thailis.or.th/tdc/

นำเสนองานวิจัยในเวทีของ กศน.

ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ
ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ

ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ในงานการประชุมสัมนางานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552”  ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ และ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ เป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง 29-30 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา

     ภาพ ผอ.อวิรุทธิ์  ภักดีสุวรรณ (มุมล่างซ้าย) จากจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้นำเสนอโครงการ “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” ท่านกรุณาสลับกับผมถ่ายภาพในฐานะผู้นำเสนอ และผมได้รับความอนุเคราะห์แฟ้มรายงานโครงการจากท่าน มาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในลำปาง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้คัดลอกให้กับผู้เกี่ยวข้องไป 4 ท่านแล้ว คือ อ.ชิน อ.วันชาติ อ.ศรีศุกร์ และอ.ออย เท่าที่ได้ฟังการนำเสนอก็พบว่า กศน.มีจุดแข็งในการทำหัวข้อนี้ชัดเจนจากการเข้าไปคลุกคลี และได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 4/2552

แห่เทียนพรรษา
แห่เทียนพรรษา

3 ก.ค.52 1)นำเสนองานวิจัยงานศพฯ กทม. ที่ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ชวนไปนำเสนอในเวทีนำเสนองานวิจัย ของกศน.2009 ให้กับผู้บริหารกศน.จากทุกภาคได้ร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 180 ท่าน เพราะท่านได้ฟัง อ.ราตรี ดวงไชย ทีมวิจัยของผมนำเสนอในเวทียุทธศาสตร์การศึกษาของสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่บ้านเสานัก (ครั้งนั้นผมไปนำเสนองานวิจัยฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่ มจพ.) ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม แบบ PAR = Participatory Action Research หรือ CBR=Community-Based Research แล้วผมได้มีโอกาสพบกับผอ.ของมหาสารคาม ซึ่งท่านนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยใช้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านในลำปาง แล้วผมได้คัดลอกรายงานทั้งเล่มให้กับ อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ อ.วันชาติ นภาศรี อ.ชินพันธ์ และน้องออย ผมว่ารายงานฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ผมนึกถึงจุดแข็งที่ กศน.มีในบทบาทที่ใกล้ชิดชุมชนและมีเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขอย่างชัดเจน นี่เป็น output จากการที่อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อนุญาตให้ผมได้ไปนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ 2) งานแข่งฟ้อนเล็บเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่เทียนปีนี้ ผมร่วมเป็นกำลังใจในฐานะคณะวิทย์ใน งานประกวดฟ้อนเล็บของนักศึกษามหาวิทยาลัยของเรา ที่สวนเขลางค์ในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 2  ก.ค.52 ซึ่งทีมของเราพลาดรางวัลด้านการฟ้อนเล็บไปอย่างน่าเสียดาย ข้อสังเกตที่พบคือ 2.1) ช่างฟ้อนมีมากกว่าคนดูอย่างเห็นได้ชัด แต่ละกลุ่มที่ส่งช่างฟ้อนเข้าประกวดมีกำลังใจตามมาด้วย ไม่มาก อย่างของมหาวิทยาลัยเรามีเพียงผมกับน้องเอ็มและพี่บุญมีเท่านั้น และไม่ต่างกับทีมอื่น  2.2)ส่วนผู้จัดงาน คือเทศบาลนครลำปางก็จะมีกรรมการ 2.3)ผู้ที่มาออกกำลังกายมากมายใน สวนก็ให้ความสนใจกับการรำครั้งนี้น้อยมาก สังเกตุได้จากจำนวนคนดูที่รายล้อมแทบไม่มี 2.4)ช่างฟ้อนที่มาแข่งก็มิได้สนใจการร่ายรำของคู่แข่ง ถ้าไม่ไปซ้อมของตนเอง ก็นั่งรอเวลา ส่วนกลุ่มที่รำเสร็จก่อนก็จะกลับกันก่อนหลังแข่งเสร็จเป็นส่วนใหญ่ 2.5)ความเห็นเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมคงพูดได้แต่คำว่าน่าเป็นห่วง และอยู่ในวิกฤตขาลงอย่างชัดเจน ในสังคมวัตถุนิยม 3)งานแห่เทียนเริ่มตั้งแต่ 7.00น. อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ติดต่อรถขนทหารจากค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นการด่วนเมื่อวาน แล้วผมก็เซ็นบันทึกออกของคณะวิทย์ฯ ขออนุมัติท่านอธิการเมื่อวานเย็นในฐานะผู้ดูแลการเดินทางของนักศึกษา ว่าขออนุมัติวงเงินค่าน้ำมันกับค่าเบี้ยในกรอบ 700 บาท ก็เกือบมีปัญหาเรื่องการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคุณเปรมจิตติดต่อเช่ารถบัสไม่ทันด้วยเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนั้น สรุปว่าเช้ามาก็จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงกับค่าน้ำมันรวม 500 บาท ให้กับทหารท่านไป จากเดิมตั้งงบเช้ารถปรับอากาศ 2000 บาท ล้อหมุน 7.15น. มีทั้งหมด 43 คนในนั้นเป็นบุคลากร 10 คน นายกเทศบาลนครลำปางกล่าวรายงาน 8.00น. แล้วผู้ว่าก็กล่าวเปิด ขบวนเลื่อน 9.00น. ถึงวัดบุญวาทย์ 10.00น. ไปทำบุญถวายเทียนวัดพระบาทผู้บริหารไปกันหลายท่าน อาทิ คณบดีคณะสังคมฯ คณบดีคณะบริหาร ผช.ฝ่ายกิจการนักศึกษา เสร็จพิธีประมาณ 11.00น. ทุกอย่างเรียบร้อยดียกเว้นตัวผมดูโทรมไปนิด เพราะเดินไปกับรถขบวนเหมือนนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันท่ามกลางแดดร้อน

เตรียมงานไหว้ครู กีฬา freshy night กับน.ศ.

freshy

23 มิ.ย.52 กิจกรรมวันนี้มาในหลายอารมณ์ ช่วงเช้าแก้ไขปัญหา e-learning system, google apps และ blog ได้สำเร็จ ประชุมวางแผน และทบทวนการทำงานกับทีมไอที มีตุ้ย กับแบงค์ ส่วนเอกยังไม่เข้ามา ช่วงสายหน่อยก็เคลียร์เรื่องเตรียมตัวไปนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการงานวิจัย กศน.ประจำปี 2552 ที่ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ได้ชวนไปนำเสนอผลงานจากภาคเหนือที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชน ตอนบ่ายก็เคลียร์เรื่องต้องประชุมวิจัยพรุ่งนี้กับ อ.วันชาติ ที่ต้องนำเสนองานวิจัยระบบฐานข้อมูล ด้านการประกันคุณภาพ แต่ประเด็นใหญ่คือการนำเสนอความคลาดเคลื่อนเพื่อให้เกิดความตระหนัก
      บ่าย 2 ครึ่ง นายอั๋น ก็โทรมาชวนไปให้กำลังใจใต้หอหญิง หาเสบียงไปเสริมในการทำพาน ซึ่ง อ.เกศริน ก็แจ้งว่างบของมหาวิทยาลัยมีให้ 750 ประกอบด้วยทำพาน 250 และจัดแสตนท์ 500 ทำให้ผมทราบวงเงินที่รวมกับการเก็บค่าทำพานคนละ 20 บาทจากนักศึกษาก็ได้อีกประมาณ 700 บาท รวมเป็น 1450 บาท แต่เงินสำรองก้อนแรก 500 ที่นายอั๋นกับเพื่อนไปซื้อของทำพานเกินงบไปแล้ว ก่อนพานเสร็จโดยสมบูรณ์ อ.แนน ก็มาเยี่ยม พานเสร็จเร็วในเวลาเกือบ 5 โมง เพราะมีของ มีแบบ มีคน น้องปี 1 ต่อเนื่องมาร่วมเกือบครบ นายอั๋นกับเพื่อนขอใช้งบอีก 1200 บาท ไปซื้ออุปกรณ์ทำแสตนท์ ก็มีรายการใหญ่คือ ผ้าลาน 6 * 6 กับอาหารเย็น ผมสั่งไปว่าขอไก่ 3 ตัว แต่ได้ไก่มา 2 ตัวกับอาหารอื่น ส่วนค่าแต่งตัวดาวกับเดือนอีก 500 บาท น้องดาที่เก็บเงินทำพานควักจ่ายไปก่อน
     6 โมงเย็น อั๋นกับเพื่อนนำอุปกรณ์แต่งเวทีและเสบียงมาที่แสตนท์ วางแผนกันเสร็จก็ทานข้าวเย็นร่วมกัน อ.แต ก็มาร่วมเป็นกำลังใจ น.ศ.ดูมีความสุขในการแต่งเวที ลงสีชื่อคณะบนแผ่นป้าย และยุ้ยวาดหมีแพนด้าตามกระแส ระหว่างนั้นน้องนายกับน้องเจ ที่เป็นดาวกับเดือนก็ซ้อมเต้นแม้ขลุกขลักบ้างในช่วงเย็น แต่ดึกหน่อยก็คลี่คลาย  เรื่องที่คลี่ไม่ได้คืออดุลทำกุญแจหาย แล้วหญ้าในสนามตัดสูงกว่า 3 นิ้ว ก็คงหากุญแจไม่พบแน่ เวทีหันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์ ผมกับศิษย์ถกกันเรื่องการขึงผ้าลานพักหนึ่งกว่าจะลงตัว ช่วงหลังเราทำรั้วด้านหน้าได้อั๋นกับบอยที่ชำนาญในการตัดไม้ไผ่ ทำให้การทำรั่วหน้าแสตนท์ที่ผมคิดว่ายาก เป็นเรื่องง่ายไปซะงั้น ศิษย์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือก็มี อั๋น บอย ปาง อดุล โบว์ โอ ยุ้ย นก ศรัญญา และน้องเศรษฐศาสตร์ สุดท้ายผมก็ยอมแพ้ในสังขารขอกลับบ้านตอน 3 ทุ่ม มาแวะดื่มนำเย็นที่ 7-11 พอดับกระหายได้ก็ตัดสินใจซื้อน้ำเย็น ๆ ไปฝากศิษย์ที่เหงื่อไหลไคลย้อยหน้าเวที ให้ได้ดื่มน้ำหวานเย็นชื่นใจ อย่างที่ผมได้ดื่ม เพื่อดับกระหายในยามกระหายมากมาก กลับถึงบ้านก็ upload รูปเด็กเข้า hi5  และมานั่งเขียนบันทึกนี่หละครับ