พลังจ่ายภาครัฐกับภาคเอกชน

11 มิ.ย.54 มีโอกาสคุยกับผู้รับเหมาเดินสายระบบเครือข่าย ที่ช่ำชองในการรับงาน เล่าสู่กันฟังว่า การรับงานจากหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะภาครัฐมีงบประมาณใช้จ่ายตามที่ขอ เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณก็ต้องรีบใช้จ่ายให้หมด อาจเรียกได้ว่าเหลือกินเหลือใช้ เมื่อขึ้นปีใหม่ก็ของบประมาณกันใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งกันทุกปี ส่วนภาคเอกชนจะใช้จ่ายกันแต่ละทีคิดแล้วคิดอีก ต่อรองกันหลายรอบ บางทีตกลงได้งานมาแล้วก็ยังมาแก้รายละเอียด บางกรณีถูกขอเพิ่มงานในภายหลังแต่ไม่เพิ่มงบประมาณ จนบางครั้งต้องขอถอนตัว เพราะประเมินแล้วอาจไม่คุ้ม แต่ทำงานกับภาครัฐไม่ค่อยมีปัญหา ถ้ามีปัญหาก็รื้อทิ้งแล้วทำใหม่ในปีต่อไป

พลังจ่ายของภาครัฐนั้นมีมาก เพราะแหล่งงบประมาณมาจากเงินภาษีของประชาชน บางองค์กรมีการจัดทำกลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อกำหนดว่างบประมาณเข้ามาทางใดบ้าง และจะออกไปทางใดบ้าง ทำให้คนสนิทของเจ้านายมักเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ แม้งานที่ทำจะเป็นเพียงการพิมพ์รายงานการประชุมก็ตาม บางทีความเหมาะสม หรือความคุ้มค่าของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางโครงการใช้งบประมาณมหาศาล แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่ความต้องการของชุมชนที่แท้จริง หรือวิเคราะห์ความต้องการที่ไม่สมบูรณ์ แต่เกิดจากความต้องการของผู้ให้ เช่น ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์สินค้าชุมชน ห้องสมุดหมู่บ้าน ในหลายพื้นที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากขาดการดูแลบำรุงรักษาโดยคนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้งบประมาณ

พลังจ่ายของภาคเอกชนส่วนใหญ่ มักไม่สูงนัก งบประมาณคือการลงทุน ที่ต้องประเมินว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่าตามแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ จึงต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้โดยละเอียด ก่อนอนุมัติโครงการ/งบประมาณตามแผนการลงทุน ถ้าตัดสินใจลงทุนแบบไม่ระมัดระวังก็จะเสียงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้บริษัท/ห้างร้านมากมายต้องปิดตัวลง ดังนั้นการวางแผนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีของภาคเอกชน จึงมักให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ ความต้องการของผู้ใช้ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายและผลตอบแทนที่จะคืนกลับมาเป็นสำคัญ