น.ศ.ศูนย์ อ.โพนพิสัย เยือนโยนก

น.ศ.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยือน ศูนย์แม่
น.ศ.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยือน ศูนย์แม่

19 ธ.ค.52 วันนี้นักศึกษาโยนก จากศูนย์โพนพิสัย และศูนย์เซกา รวมกันกว่า 210 คนมา 5 รถบัส มาร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยโยนก ช่วงเย็นได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับชื่องาน “ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน”  แบบขันโตก มีงานแสดงของนักศึกษา และนักเรียนในจังหวัดหลายชุด แสดงวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง ส่วนนักศึกษาจาก 2 ศูนย์ก็นำการแสดงบั้งไฟ และฟ้อนรำหลายชุดมาเผยแพร่เช่นกัน  มีการร้องเพลง และฟ้อนรำ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับอบอุ่น ทำกิจกรรมร่วมกัน และดูมีความสุขกันดีกับงานบันเทิงครั้งนี้  .. มีภาพเป็นหลักฐานถึงความสุขจากการฟ้อนรำครับ
     วันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปทัศนศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ มี อ.เกศริน อินเพลา อ.ทรงศักดิ์ เมืองฝั้น และนักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว ร่วมเดินทางไปอำนวยความสะดวก และนำทัศนศึกษาในครั้งนี้

ปิดร่างรายงานการวิจัย sar51 แล้ว

หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551
หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551

16 ธ.ค.52 วันนี้ผมปิดร่างรายงานการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ปีการศึกษา 2551 กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง” จากการส่งร่างให้ทีมวิจัยทั้ง 8 คนตรวจสอบก็ดำเนินการไปแล้ว ต่อจากนี้จะประสานส่งรายงานตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะมีกลไกดังนี้ 1) ส่งให้คณบดีพิจารณา 2) คณะกรรมการวิจัยในคณะ 3) สถาบันวิจัย 4) คณะกรรมการของสถาบันวิจัย 5) เวทีวิจัยของมหาวิทยาลัย 6) ท่านอธิการ ถ้าผ่านกลไกนี้ก็จะปิดงบถ่ายเอกสารของโครงการ แล้ววางแผนรวมทีมวิจัยโครงการต่อยอดกับข้อมูลปี 2552 เพื่อขยายให้ถึงระดับบุคคล ซึ่งมีความเป็นไปได้ด้วย 2 ปัจจัย คือ ท่านอธิการสนับสนุน และบุคลากรมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากการอบรมในเดือนที่ผ่านมา โดยบทคัดย่อมีดังนี้
      งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโปรแกรมระบบฐานข้อมูลให้หน่วยงานจัดเก็บข้อมูลการประเมินตนเอง และเพื่อให้ผู้ประเมินตรวจสอบหลักฐานเพื่อการประกันคุณภาพด้วยความพอใจ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 2 กลุ่ม รวม 13 คน คือ ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา 7 คน ตัวแทนคณะวิชาและสาขาวิชา 6 คน เครื่องมือที่ใช้พัฒนาระบบคือเครื่องบริการไอไอเอส ตัวแปลภาษาพีเอชพี  เอแจ็กซ์ และระบบฐานข้อมูลไมโครซอฟท์แอคเซส ใช้แบบประเมินความพึอพอใจหลังการอบรมใช้งานโปรแกรม และหลังการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบันเสร็จสิ้น โดยลักษณะคำตอบเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ งานที่พัฒนาขึ้นสามารถเลือกข้อมูลปีการศึกษา 2550 หรือ 2551 แบ่งเป็นระบบย่อยที่สำคัญ 6 ระบบ ประกอบด้วย 1) ระบบเข้าใช้งานของผู้ใช้  2) ระบบนำแฟ้มข้อมูลเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน  3) ระบบบันทึกรายละเอียดตามตัวบ่งชี้ 4) ระบบจัดการข้อมูลพื้นฐาน 5) ระบบปรับปรุง  และ 6) ระบบรายงานผลประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของหน่วยงานโดยรวมอยู่ระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) และผลการประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24, S.D = 1.11) ซึ่งสรุปได้ว่าระบบที่พัฒนาขึ้นยังไม่ตอบสนองความพึงพอใจต่อผู้ใช้ทั้ง 2 กลุ่มในระดับมาก
     The objective of this operational research was to develop the self assessment system to serve the satisfaction of users and assessors. This system used the case study of YONOK University.  The data sampling is divided into 2 groups consisting of 7 assessors and 6 faculties. The system development tools were Internet Information Server, PHP Interpreter, AJAX and Microsoft Access Database. 5-scale rating questionnaire was collected to evaluate system performance after finishing training and evaluation of the system. This system could be surve to database of 2550 and 2551.  There are 6 sub-systems: user’s login, documents upload, indicator update management, and common data set management, data updating and reporting system. The evaluation result of user’s satisfaction was high (a mean of 3.71 and standard deviation of 1.16). The evaluation result of assessor’s satisfaction was also moderate (a mean of 3.24 and standard deviation of 1.11). It is concluded that the system performance was not satisfy to both group in high level.
+ http://www.thaiall.com/research/sar51/fullpaper_sar51_521216.zip  500 KB
ถ้าท่านใดอ่านแล้วมีข้อเสนอแนะ แจ้งได้ครับ เพราะยังไม่ปิดงบถ่ายเอกสาร เป็นเพียงร่างรายงาน

นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล

13 ธ.ค.52 ปีการศึกษานี้เริ่มการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งหลายท่านไม่ทราบนิยามศัพท์ของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำ นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล โดยรับความอนุเคราะห์เรียบเรียงจาก อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเทลา  และเผยแพร่ให้ทุกคณะ และหน่วยงานได้รับทราบผ่านบันทึก งทส. ๔๑/๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ๑. ระบบฐานข้อมูล (Database System) คือ การรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน (Integration) โดยมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปตาราง (Grouping) ที่สามารถเชื่อมโยงตารางทั้งหมดเข้าหากัน(Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ (Non Redundancy) ไม่มีความขัดแย้งของข้อมูล (Inconsistency) และมีความคงสภาพของข้อมูล (Integrity)
     ๒. ข้อมูล (Data) คือ ค่าของความจริงที่ปรากฏขึ้น โดยค่าความจริงที่ได้จะนำมาจัดการ ปรับแต่งหรือประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
     ๓. สารสนเทศ (Information) คือ กลุ่มของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายและมีประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้
     ๔. ระบบ (System) คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากหน่วยย่อยหรือองค์ประกอบย่อย ที่มีความสัมพันธ์และทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    ๕. ระบบ (System) มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 222
ระบบ (System) ประกอบด้วย 1)วัตถุประสงค์ (Objective) 2)ปัจจัยนำเข้า (Input) 3)กระบวนการ (Process) และ 4)ผลผลิต (Output) แต่ในการประเมินตามคู่มือของ สกอ. คำว่าระบบ จะเน้นที่กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะปรากฎให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
     ๖. ระบบและกลไก มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 162
     ระบบและกลไก คือ ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

เรียบเรียงโดย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนจากการประเมิน .. ออกแล้ว

วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก
วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก

13 ธ.ค.52 วันนี้ช่วงกลางวันมีภารกิจวิพากษ์แผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งวัน โดยมี อ.วิเชพ ใจบุญ เป็นผู้ดำเนินการ และมี อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ เมื่อกลับบ้านก็หายจากอาการทอนซิลอักเสบพอดี จึงนำข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายใน ที่เกิดขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่มาจากผู้ประเมินภายในของแต่ละคณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างผลการประเมินตนเอง และผลการประเมินของผู้ประเมิน ระหว่างปีการศึกษา 2550 และ 2551 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนสูงเกินกว่าที่คาดไว้มาก ทำใจเขียนส่วนอภิปรายผล หรือสรุปผลต่อไม่ได้ และคิดว่าคืนนี้ผมคงมีเรื่องอะไรให้นอนคิดมากมายกว่าทุกวัน
     ตารางที่ 1 จำแนกตามจำนวนคะแนนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนจากผลต่างการประเมินตนเองและของผู้ประเมินในปีการศึกษา 2551 พบว่า ผลรวมจำนวนตัวบ่งชี้จากทุกคณะ ที่ผลประเมินตนเองตรงกับผลของผู้ประเมินมีเพียง 58.55% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 1 คะแนนมี 22.22% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 2 คะแนนมี 14.96% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 3 คะแนนมี 4.27% ซึ่งผลในตารางที่ 1 ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนนัก นอกจากตกใจที่เห็นผลประเมินเกือบครึ่งหนึ่งมีความคลาดเคลื่อน และพบว่าคณะของผมมีจำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนมากที่สุดคือ 20 ตัวบ่งชี้ แต่คณะบริหารคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดคือ 10 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 2 จำแนกตามจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า ไม่มีคณะใดเลยที่มีความคลาดเคลื่อนลดลงจากปี 2550 ทั้งที่ได้มีการนำเสนอรายงานความคลาดเคลื่อนไปใน การประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 22 /2552 วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 วาระ 4.3 โดยมีตัวแทนนักวิจัยร่วมประชุมครั้งนี้ 4 ท่านได้แก่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ อ.วันชาติ นภาศรี และ อ.คนึงสุข นันทชมภู โดย อ.วันชาติ นภาศรี เป็นตัวแทนทีมวิจัยจัดทำข้อเสนอแนะไว้ในรายงานจำนวน 3 ข้อ คือ 1)เร่งพัฒนาศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน การบริการวิชาการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และการวิจัย 2)กำหนดนิยามปฏิบัติการในรายตัวบ่งชี้ที่ยังมีความสับสน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 3)จัดทำคำอธิบายว่าตัวบ่งชี้ใดใช้หลักฐานอะไรบ้าง และจัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกคน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลับมาหาสิ่งที่พบในตารางที่ 2 คือ คณะของผมติดอันดับหนึ่งในการที่มีจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15 ตัวบ่งชี้ ส่วนคณะที่จำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดมีคณะบริหารกับคณะสังคม คือ 1 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 3 จำแนกตามคะแนนที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า คณะของผมยังเป็นเบอร์ 1 คือ คะแนนคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นอีก 22 คะแนน โดยคณะสังคมคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ 3 คะแนน รองลงมาคือคณะบริหาร 5 คะแนน ทั้ง 3 ตารางนี้ได้เปรียบเทียบในระดับคณะ ยังไม่เปรียบเทียบในระดับตัวบ่งชี้ ว่าองค์ประกอบใด หรือตัวบ่งชี้ใด มีความผิดปกติบ้าง แต่เท่าที่คาดการณ์ก็เชื่อได้ว่าความคลาดเคลื่อนกระจายอยู่ในทุกตัวบ่งชี้อย่างแน่นอน แต่จะมีตัวใดสูงเป็นพิเศษคงต้องใช้เวลาทำ pivot table อีกครั้ง
     จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมมีแผนส่งข้อมูลดิบให้แต่ละคณะและทีมวิจัยได้ตรวจสอบ ก่อนดำเนินการเขียนรายงานสรุปผล และอภิปรายผลรายงานการวิจัยต่อไป ซึ่งส่วนของการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนเป็นเพียงผลการวิจัยที่เพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์หลัก แต่นี่คืองานวิจัยสถาบันที่พบว่าระหว่างการวิจัยได้พบประเด็นที่จะเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ และสนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยบรรลุตามวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องการค้นหาเป็นหลัก คือความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่พัฒนาขึ้น ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนและความพึงพอใจสอดคล้องกัน คือ ระดับความพึงพอใจเป็นไปในทางเดียวกับความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย และจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
+ http://www.yonok.ac.th/sar/nsar51.php

อบรมการเขียนแผนการสอนในวันรัฐธรรมนูญ

อาจารย์ดูมีความสุข .. ทำให้บรรยากาศดี
อาจารย์ดูมีความสุข .. ทำให้บรรยากาศดี

10 ธ.ค.52 วันนี้ที่มหาวิทยาลัยจัดอบรมการเขียนแผนการสอน สอดรับกับมาตรฐาน TQF ที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ท่านวิทยากรคือ ผศ.สุนทรี คนเที่ยง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายด้วยเนื้อหาก็เข้มข้น แฝงไว้ด้วยความเป็นกันเอง  เพราะท่านมีอารมณ์ขันในที สำหรับประเด็นที่บรรยายมีการแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็มีประเด็นมากมายให้ชวนคิด ทั้งการใช้เทคโนโลยี กลวิธีในการจัดการเรียนการสอน คุณธรรมของนักเรียน และครูที่ต้องไปด้วยกัน ช่วงท้ายได้เปิดให้อาจารย์ทุกคนได้เขียนแผนการสอนในแบบฟอร์มที่เตรียมมากันคนละ 1 หน่วย แล้วกล่าวปิดการอบรมโดย รองอธิการทั้งสองท่าน ที่น่าสนใจคือผมสังเกตว่าวิทยากรกล่าวทักทาย อ.แดน กุลรูป และผู้เข้าอบรมอีกหลายท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในระหว่างการอบรม คงเป็นเพราะท่านก็สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ จากนั้นก็มีเพื่อนสมาชิกขอ add ท่านเป็นเพื่อนใน facebook.com รู้สึกว่ามีการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ทำให้ไม่รู้สึกห่างเหิน หรือตึงเครียดระหว่างการอบรม .. ก็ขอเขียนสะท้อนคิดวันนี้เท่านี้ (A Reflection A Day)

ยกร่าง การอภิปรายผล รายงานวิจัย sar51

sar518 ธ.ค.52 ยกร่าง การอภิปรายผล ซึ่งยังขาดผลประเมินคณะ ปีการศึกษา 2551 เพื่อใช้วิเคราะห์ความเบี่ยงเบนเปรียบเทียบปี 50 และ 51 ในขั้นตอนที่เหลือ และยังไม่เสนอให้ทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย อ.วันชาติ  นภาศรี อ.ศศิวิมล  แรงสิงห์ อ.อาภาพร ยกโต อ.อัศนีย์  ณ น่าน อ.คนึงสุข  นันทชมภู อ.สุรพงษ์  วงค์เหลือง นางเจนจิรา เชิงดี และ นางสาวเพชรี  สุวรรณเลิศ
     จากผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปายผล ดังนี้ 1) ผลสำรวจความพึงพอใจต่อการอบรมการใช้งานโปรแกรมตั้งแต่ครั้งแรกไปถึงครั้งที่สี่มีแนวโน้มค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ลดเพียงเล็กน้อยสำหรับครั้งที่สี่ คือ 3.86, 3.93 4.18 และ 4.10 โดยทั้ง 4 ครั้งมีระดับความพึงพอใจเท่ากันคือระดับมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นตัวแทนจากคณะวิชามีความพึงพอใจ ยอมรับ และเข้าใจการใช้งานระบบนี้ 2) หน่วยงานระดับคณะวิชายังใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองเพียง 80% และมีคณะที่ส่งมอบรหัสผ่านให้กับผู้ประเมินเพียง 60% แต่ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าทั้งระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง และกลไกที่สนับสนุนให้คณะวิชาใช้งานระบบยังต้องมีการปรับปรุง 3) ผู้ประเมินได้ใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองทุกคน แต่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24 , S.D = 1.11) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าหน่วยงานระดับคณะวิชาส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองยังไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้ผู้ประเมินเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารผ่านระบบออนไลน์แล้วไม่พบหลักฐานดังกล่าว จึงทำให้ผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง
     ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คือ 1) ผู้บริหาร และสำนักประกันคุณภาพควรผลักดันให้หน่วยงานระดับคณะวิชาใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง และมีกลไกในการกำกับดูแลการใช้งานระบบดังกล่าวที่ชัดเจน 2) การใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรเปิดให้อาจารย์ได้เข้าไปใช้งาน และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคณะวิชา แล้วรวมเป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยในที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกลไกการประกันคุณภาพแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
     ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป คือ 1) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยควรรองรับการใช้งานตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการเชื่อมโยงแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ทั้งกับระบบฐานข้อมูลภายใน และภายนอก 2) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรมีฟังก์ชันเผยแพร่รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผ่านการประเมินโดยผู้ประเมินแล้ว สู่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
+ http://www.yonok.ac.th/sar

เตรียม ทบทวน นำเสนอ ติดตามผลการปรับปรุงกับน.ศ.วิจัยท้องถิ่น

4 วันของนักศึกษาโยนกที่รับทุน cbpus
4 วันของนักศึกษาโยนกที่รับทุน cbpus

มี 4 กิจกรรมที่น.ศ. cbpus ทำในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะต้องทำงานกับ สกว. แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมนำเสนองานวิจัยท้องถิ่นกับ อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเพลา ในอีก 3 เดือนข้างหน้าไปพร้อมกัน แต่งานสำคัญเร่งด่วนคือรายงานความก้าวหน้ารอบ 3  เดือนที่ผ่านมา ณ มจร.บุญวาทย์ ลำปาง
     22 พ.ย.52 เตรียมเอกสารที่จะนำเสนอในเวทีสกว.ลำปาง กรกับปราง นำฟอร์มที่ต้องส่ง และกิจกรรมทั้งหมดที่เคยทำ มาทบทวน ซึ่งวันนี้ผมสะดวกในทุ่งนา เพราะอยู่ในช่วงเกี่ยวข้าว มีประเด็นพูดคุยคือ 1)ผลการประชุมกับชุมชน และการทำงานที่ผ่านมา 2)จำนวนฟอร์ม การให้รายละเอียดในแต่ละฟอร์มที่สกว. กำหนดมา 3)ขอบเขตข้อมูลที่จะนำเสนอในแต่ละฟอร์ม 4)ทบทวนกิจกรรมวิจัยตามแผน 5)กำหนดตารางเข้าเก็บงานในพื้นที่ไปพร้อมกับทำเอกสารเสนอสกว.
     26 พ.ย.52 ทบทวนเพื่อเตรียมรายงานความก้าวหน้าด้วย powerpoint มีประเด็นพูดคุยคือ 1)ประเด็นปัญหาจากการจัดทำเอกสารอย่างรีบเร่งและต้องส่งให้ผู้วิพากษ์โดยเร็ว จึงไม่ได้ทบทวนอีกครั้งในทีมวิจัยของเรา 2)ทบทวนกิจกรรมทีละประเด็น เพื่อทำความเข้าใจสำหรับนำเสนอในเวทีมจร. 3)กำหนดกรอบ powerpoint ที่จะนำเสนอ ทีละ slide ในแต่ละกลุ่มประเด็น
     28 พ.ย.52 นำเสนอต่อผู้วิพากษ์ ในครั้งนี้มี อ.มหาวิทยาลัยโยนกร่วมเป็นผู้วิพากษ์ 2 คนคือ อ.กฤตภาส เสมอพิทักษ์ และอ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  ผลการวิพากษ์ผ่านไปด้วยความราบรื่น เพราะเตรียมรายละเอียดของกิจกรรมชัดเจนที่จะทำให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ 1)เอกสารควรมีรายละเอียดตรงกับกิจกรรมที่ทำจริงมากกว่านี้ การเข้าพบชุมชนมากกว่า 10 ครั้งไม่พบการอธิบายรายละเอียดกิจกรรมย่อยในกิจกรรมหลัก ถ้ามีรายละเอียดก็จะทำให้เข้าใจการทำงาน และสัมพันธ์กับภาพกิจกรรมที่นำเสนอ 2)ข้อความในเอกสารขาดการตรวจสอบอยู่มาก ต้องปรับปรุงเป็นรุ่นต่อ ๆ ไปให้สมบูรณ์ 3)ขาดการอธิบายกระบวนการที่ได้มาซึ่ง 3.1)ทำไมต้องใช้ซีดีสองแผ่น 3.2)story board 3.3)script 3.4)บทวิเคราะห์ script 4)งานที่ทำมี 2 มาตรฐานคือ 4.1)นำเสนอต่อสกว. ตามกิจกรรทั้ง 8 ที่วางแผนไว้ 4.2)แต่ทั้ง 8 กิจกรรมไม่มีส่วนที่ต้องเตรียมนำเสนอต่อกรรมการ ได้แก่ อ.วิเชพ ใจบุญ และอ.เกศริน อินเพลา ที่ต้องแสดงขอบเขต นโยบาย โครงสร้างข้อมูล และตัวอย่างจอภาพ เป็นอย่างน้อย (วันนี้อยู่เป็นผู้วิพากษ์ได้ครึ่งวันเพราะไปร่วมงานรับปริญญาน้องสาวที่เชียงใหม่กับครอบครัว)
     5 ธ.ค.52 ติดตามผลการปรับปรุงและตารางกิจกรรมในหมู่บ้าน 1)จดโดเมนเนมโครงการคือ ldy69.com ซึ่งใช้เงินส่วนตัวของนักศึกษา เพื่อเตรียมนำเสนอต่อกรรมการผู้สอบในมหาวิทยาลัย 2)ถ่ายวีดีโอนักวิจัยเพิ่มเติมที่บ้านอาจารย์นักวิจัย ซึ่งมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวน และการจำบท 3)วิพากษ์วีดีโอชุดจริงทั้งหมดที่เก็บมา เพื่อวางแผนเข้าเก็บวีดีโอที่ต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนวิธีการ 4)ทบทวนกิจกรรม และนัดหมายตามงานครั้งต่อไปวันที่ 12 ธ.ค.52
+ http://www.thaiall.com/research/cbpus52/student_report_3m.zip (14 MB รวม doc+ppt)

สรุปผลการวิจัย 1/9 ตอน ของ sar51

4 ธ.ค.52 โครงการวิจัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองปีการศึกษา 2551
     สรุปผลการวิจัยตอนที่ 1 ใน 9 ตอน ส่วนของผลการวิเคราะห์สถานการณ์ระบบฯ  พบว่า การพัฒนาระบบฐานข้อมูลในมหาวิทยาลัยผ่านกระบวนการวิจัย ทำให้สอดรับกับตัวบ่งชี้คุณภาพอย่างน้อย 4 ตัวบ่งชี้ คือ 1)ตัวบ่งชี้ 4.1 มีการพัฒนาระบบและกลไกในการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ 2)ตัวบ่งชี้ 7.5 ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย 3)ตัวบ่งชี้ 9.1 มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพภายในที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา 4)ตัวบ่งชี้ 9.3 ระดับความสำเร็จของการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
     ผลต่อตัวบ่งชี้ 4.1 คือ แสดงให้เห็นว่าคณะวิชามีบทบาท มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามระบบ และกลไกที่ส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นทีมวิจัยโครงการวิจัยบูรณาการในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองของมหาวิทยาลัย แล้วนำระบบที่พัฒนาขึ้นกลับไปใช้ประโยชน์ในคณะวิชาอย่างต่อเนื่อง
     ผลต่อตัวบ่งชี้ 7.5 คือ คณะวิชามีส่วนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน แล้วใช้ประโยชน์จากรายงานที่ได้ อาทิ ตารางสรุปผลทั้ง 4 ประเภทไปช่วยในการตัดสินใจพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคณะอย่างต่อเนื่อง
     ผลต่อตัวบ่งชี้ 9.1 คือ คณะวิชามีส่วนร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศที่สนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษาและใช้ร่วมกันในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นปีที่สอง
     ผลต่อตัวบ่งชี้ 9.3 คือ คณะวิชาได้รายงานผลการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสู่สาธารณชนภายในเวลาที่กำหนด ผ่านระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่คณะวิชามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อใช้งานในมหาวิทยาลัยเป็นปีที่สอง
     สำหรับการดำเนินการ นำเสนอผลการประกันคุณภาพสู่สาธารณชน อยู่ขั้นตอนการพัฒนารายละเอียด และขออนุมัติผู้บริหาร ซึ่งมีตัวอย่างที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เผยแพร่สู่สาธารณะ ดังนี้
http://science.psru.ac.th/sar/ocomponent1_1.php
+ http://fis.swu.ac.th/QAsar/linkdetail.asp?fisyear=&fc=MDCH&parentid=20&num=4&nodenum=7.5
+ http://www.nsru.ac.th/aritc/sar51/7_5.htm
+ http://www.ams.cmu.ac.th/depts/qa/WSAR50/KPI50/7/aong7.5.htm
+ http://www.bcnnv.ac.th/manage/StandardDetail.php?code=244
+ http://www.pnc.ac.th/manage/StandardDetail.php?code=47
+ http://sci.skru.ac.th/science/sciquanlity/sar51/sarpointer7_5.php
+ http://202.183.204.134/manage/StandardDetail.php?code=99
+ http://202.29.80.19/~sar/acomponent3_4.php
+ http://www.techno.msu.ac.th/SAR/007/p7_05.htm
+ http://www.ubu.ac.th/~softset/qaocn50/act50_751.php

ขั้นตอนการทำ KM ให้ได้คะแนนประกัน และถูกตามหลักสากล

1 ธ.ค.52 ช่วงนี้หารือกับอาจารย์อติชาต หาญชาญชัย เรื่องเขียนแผน KM ของคณะบ่อยครั้ง ท่านทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ขั้นตอนสำหรับการจัดทำตามแผน KM มีอย่างน้อย 5 ขั้นตอนในเบื้องต้น คือ 1)ระบุว่าทำ KM เรื่องอะไร 2)เป้าหมายของแผน KM คืออะไร 3)หน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรมคืออะไร 4)ควรยึดแนวกระบวนการ KM ที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญนำเสนอกระบวนการไว้ 3 แนว ได้แก่ของ 4.1)กพร. 4.2)ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช 4.3)ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ สำหรับม.โยนกใช้แนวของ กพร. เพราะมีคู่มือ และแบบฟอร์มที่ใช้กันทั่วไป 5)แต่ละกิจกรรมตามแผน KM ต้องมีตัวบ่งชี้และเป้าหมาย เมื่อดำเนินการตามแผน ต้องมีหลักฐานว่าได้ผลเป็นอย่างไรตามเป้าหมายของกิจกรรม
     เพราะในการประกันคุณภาพของ สกอ. ตัวบ่งชี้ 7.3 เกณฑ์ที่ 3 ระบุว่า “มีการดำเนินการตามแผนจัดการความรู้และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ร้อยละ ๑๐๐” ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อ 3 คะแนนในตัวบ่งชี้นี้
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://202.183.204.134/manage/StandardDetail.php?code=94

ประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความพึงพอใจของ DB

26 พ.ย.52 วันนี้ไปประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลรวม 15 คน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยผมยกร่าง ตารางการเข้าประเมินระบบฐานข้อมูล และแบบประเมินทั้ง 3 ประเภทได้แก่ 1)แบบประเมินประสิทธิภาพ 2)แบบประเมินความปลอดภัย และ 3)แบบประเมินความพึงพอใจ ก็มีเรื่องให้ประหลาดใจว่า กรรมการไม่ติดใจเรื่องของแบบประเมินมากนัก เมื่ออธิบายในประเด็นที่มีข้อสงสัยก็เข้าใจกันทุกคน
     แต่มาติดใจตั้งแต่ 2 ระบบแรก ตามข้อมูลใน ตารางเข้าประเมินระบบฐานข้อมูล เรื่อง การประเมินที่ขึ้นกับชื่อระบบในประเด็นที่สัมพันธ์ กับ ความหมายของคำว่าระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งอธิบายให้ทุกคนได้คลายข้อสงสัยว่า ระบบฐานข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1)ผู้ส่งข้อมูลเข้า (Input) 2)การประมวลผลหรือกระบวนการทำงาน (Process) และ 3)ผู้รับข้อมูลไปใช้ประโยชน์ (Output) โดยการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะจัดทีมที่เข้าใจเข้าไปประเมินทีละระบบ ซึ่งประเมินในส่วนของ การประมวลผลหรือกระบวนการทำงาน (Process)
     แต่การประเมินความพึงพอใจ จะประเมิน Input กับ Output ซึ่งไม่จำเป็นที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องสัมผัสกับเครื่องบริการโดยตรง หรือไม่จำเป็นที่ระบบนั้นต้องเป็นออนไลน์ กว่าจะคลายข้อสงสัยได้ก็ใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง แต่ผมก็ว่าคุ้ม เพราะถ้าวันนี้ทุกคนเข้าใจ งานก็จะเดิน การประเมินตามแผนการประกันคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่สะดุด ถือว่าวันนี้คุ้มที่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนบุคลากร

ประชุมเสร็จผมก็ทำหนังสือแจ้งกำหนดการ
๑. หน่วยงานที่ดูแลระบบฐานข้อมูลเตรียมความพร้อมรับการประเมิน 
     ๓๐ พ.ย.–๔ ธ.ค.๕๒
๒. ทีมประเมินประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเข้าประเมินฯ  
     ๒ ธ.ค.–๑๑ ธ.ค.๕๒
๓. เจ้าหน้าที่ IT เก็บข้อมูลการประเมินความพึงพอใจฯ   
     ๓๐ พ.ย.–๑๑ ธ.ค.๕๒
๔. เจ้าหน้าที่ IT สรุปผลและจัดทำรายงานการประเมินส่งให้หน่วยงาน 
     ๓๐ ธ.ค.๕๒
๕. คณะกรรมการฯ ประชุมวิพากษ์ผลประเมินและแบบประเมิน  
     ก.พ.๕๓

     วันนี้ผมยกให้กับ อ.แดน เป็นพระเอกในเวที เพราะท่านช่วยให้ความกระจ่าง ช่วยให้เวทีผ่อนคลายอย่างได้ผล ช่วยให้การโต้เถียงที่รุนแรงลดลง เพราะในเวทีมีหลายท่านกล้าพูด กล้าคิดในมุมของตน กล้าออกนอกกรอบ ด้วยผมก็รู้ว่าทุกคนมีเจตนาดี และแล้วก็กลับเข้าที่เข้าทาง ยังมีอีกหลายท่านก็พยายามช่วยกันกำกับเวที ทั้ง อ.นุ้ย และน้องแบงค์ ก็ขอบคุณด้วยเช่นกันที่ทำให้การประเมินครั้งที่ไม่ล้มไปซะก่อน
http://www.thaiall.com/yonok/52_project_poll_database_v3.doc